“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันที่ 31 พ.ค.นี้ คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจคาอยู่ในระดับสูงจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภครวมถึงแนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ

ขณะที่ยังเจอความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจากประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งธนาคารกลางหลักอย่างธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เริ่มส่งสัญญาณอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ กนง. คงจะต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้

ส่วนในระยะข้างหน้ามองว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ไปตลอดปี 66 หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 66 ตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะยังคงเจอความผันผวนจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล เป็นปัจจัยที่อาจกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจได้รับปัจจัยหนุนหากเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อต่างจากที่ตลาดส่วนใหญ่คาด ส่วนความต้องการสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นคงจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ กลับมาแข็งค่าได้

ด้าน “TISCO ESU” มองว่าความกังวลของ ธปท. ต่อความเสี่ยงขาบน (Upside risk) ของเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง และทำให้ ธปท. ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่จำกัด (Restictive) กิจกรรมเศรษฐกิจ ทำให้ยังคงมุมมองในกรณีฐานว่าระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) จะอยู่ที่ 2% ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยระยะยาวนับตั้งแต่มีการกำหนดเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย โดยในการประชุมวันนี้ (31 พ.ค.) คาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายของปีอีก 0.25%

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงด้านบวก (Upside risks) ที่อัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าที่เรามองไว้อาจเกิดขึ้นได้จากความแข็งแรงของอุปสงค์ในประเทศที่ดีกว่าคาด เช่น การฟื้นตัวที่ดีกว่าคาดในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะกระตุ้นการจ้างงานและการบริโภค และการส่งผ่านต้นทุนที่มากกว่าคาด ที่ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจและราคาในระยะข้างหน้า