แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ระบุถึงภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลก้าวไกล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 จะลดลงรวม 80 สตางค์ จากแนวโน้มราคางวดปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย และอีก 10 สตางค์ ตามแนวโน้มของราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง รวมทั้งการเพิ่มการนำเอาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ลดได้อีกประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 66 อยู่ที่ประมาณ 3.90 บาทต่อหน่วย มาจากการบริหารหนี้สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยออกพันธบัตรระยะยาว และรัฐบาลจะไปช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนในส่วนนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องการหาเงินมาใช้หนี้ที่ กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที ระดับ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปนั้น

ทั้งนี้จากตัวเลขการคำนวณค่าเอฟทีงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค. 66) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยประชาชนต้องจ่ายคืนค่าเอฟให้ กฟผ. ที่ระดับ 28 สตางค์ต่อหน่วย (ประมาณงวดละ 20,000 ล้านบาท) หรือจ่ายค่าไฟฟ้าที่ 4.70 บาทต่อหน่วย ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ดังนั้น หากจะคำนวณค่าไฟผ่านนโยบายของว่าที่รัฐบาลพรรคก้าวไกลต้องการที่จะลดค่าไฟฟ้าลงอีก 10 สตางค์ดังกล่าวนั้น ก็สามารถทำได้ โดยรัฐบาลเอง ที่การออกพันธบัตร และลดการจ่ายคืนค่าเอฟทีให้ กฟผ. เหลือ 18 สตางค์ต่อหน่วย และยืดหนี้ กฟผ. ออกไปอีกระยะหนึ่ง เป็นต้น

“การที่รัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าจะใช้วิธีอะไรก็ตามสามารถทำได้หมด หากรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการใช้เงิน เพราะภาระตรงนี้ ประชาชนไม่ควรจะรับเพิ่มจากสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นนั้น มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยแหล่งเอราวัณในส่วนที่หายไปจากสัญญาแบ่งปันผลผลิต ปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากเกิดจากภาวะราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ต้องยอมรับเพราะประเทศไทยนำเข้าปริมาณที่มาก ยิ่งก๊าซในอ่าวไทยหายไปเยอะ ก็ต้องนำเข้าเยอะ ถือเป็นต้นทุน ส่งผลให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาวะค่าเอฟทีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา”

Electric power meter measuring power usage. Watt hour electric meter measurement tool with copy space.

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่กระทรวงพลังงานได้รับจาก กกพ. นั้น ผลกระทบจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่หายไป ถือว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา เพราะถ้าปริมาณไม่หายไปมากมายระดับ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ค่าไฟฟ้าจะไม่ขึ้นมามากขนาดนี้ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องลงมาดูแลและไปไล่บี้กับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ดำเนินการผลิตรายใหม่ในสัญญา PSC ไม่ใช่มาโยนภาระตรงนี้ให้ กฟผ. หรือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า อีกอย่าง ต้องเข้าใจว่าข้าราชการกระทรวงบางครั้งก็ทำงานลำบาก หากภาคนโยบายไม่เห็นด้วยกับแผนที่นำเสนอ

“ส่วนตัวไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะถ้าพูดไปก็จะเข้าตัวรัฐบาล เพราะปัญหานี้ก็มาจากภาครัฐ เพราะถ้าเป็นปัญหาตลาดโลก เช่น ราคาน้ำมันที่เป็นปัญหาธรรมชาติ ดังนั้นหากรัฐยื่นมือมาช่วย โดยออกพันธบัตรก็ออกได้ โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน เรื่องนี้มีข้อดีและข้อเสีย ถ้าออกแล้วอยู่อย่างนี้ไปยาว ๆ ก็ไม่ดี ก็เท่ากับว่าค่าไฟไม่สะท้อนกับต้นทุน ทำให้เป็นเครื่องมือของการเมือง ที่จะลดหรือเพิ่ม ก็เอามาลงตรงนี้ สุดท้ายก็เป็นหนี้ของประเทศอยู่ดี ดังนั้น หากปล่อยไปตามธรรมชาติ คือต้นทุนที่แท้จริง จะพบว่ากรณีก๊าซฯ ในอ่าวไทยถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นปัญหาการบริหารจัดการ ถ้ารัฐจะลงมาดูตรงนี้อย่างจริงจังก็จะดี ถือเป็นสปิริตด้วย”

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมีความกังวลถึงตัวเลขปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามที่ ปตท.สผ. หรือแม้แต่ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนยกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตปลายปีนี้ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเดือน เม.ย. 67 จะเป็นไปตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้จริง ๆ เนื่องจากขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว มีมรสุมจะกระทบต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ส่วนตัวจึงยังไม่ไว้วางใจในตัวเลขดังกล่าวว่า จะกลับมาผลิตได้ เพราะโดยหลักความเป็นจริง การขุดเจาะก๊าซฯ บริเวณดังกล่าวมาเป็นเวลานาน ปริมาณก๊าซลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น จะกระทบต่อคณะทำงานประเมินค่าเอฟทีงวดต่อไป