เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นร้อน กรณีเมื่อวันที่ 26 ก.ค. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย โพสต์ไอจีพร้อมภาพอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร คุณพ่อ เนื่องในวันเกิดและระบุว่า 26 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของลูกเสมอ แต่ปีนี้ลูกยังไม่อยากเชื่อตัวเอง ในสิ่งที่ลูกกำลังจะพิมพ์ พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง ทำให้อุณหภูมิการเมืองที่ร้อนแรง ยิ่งร้อนแรงขึ้น โดยมีการแสดงคิดเห็นจากผู้คนในทุกแวดวงอย่างกว้างขวาง

‘อุ๊งอิ๊ง’โพสต์แจ้งด่วน ‘ทักษิณ’ ประกาศกลับไทย 10 ส.ค. ลงสนามบินดอนเมือง

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” ขอพาทุกคนย้อนไปดูคดีสุดเดือดของอดีตนายกฯ “ทักษิณ” ที่เมื่อบินข้ามทะเลมาสู่ประเทศไทย จะมีกี่คดีที่รอต้อนรับขณะลงเครื่องบิน?

1.คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดิน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 51 โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ อ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว

2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

3.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพเมียนมา โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) โดยศาลเห็นว่า นายทักษิณ สั่งการให้ Exim Bank อนุมัติเงินกู้ดังกล่าว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

4.คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี