เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เวลา 09.55 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมายื่นข้อมูลเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 7 กรณีการถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางต่างๆ ตรงข้อเท็จจริงบ้าง ไม่ตรงบ้าง มีการเบี่ยงเบนข้อกฎหมายบ้าง ซึ่งเป็นความเห็นที่ตนไม่ได้ว่าอะไร แต่คิดว่าคงไม่ได้เข้าไปสู่สำนวนของ กกต. เท่าไหร่นัก แต่จากการติดตามพบว่ามีการพูดกันว่า บริษัทไอทีวีเลิกประกอบกิจการเป็นเด็ดขาดแล้วหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไอทีวีมีสัญญาเข้าร่วมงานกับ สปน. 30 ปี ตั้งแต่ ก.ค. 38 ต่อมาถูกบอกเลิกในปี 50 ไอทีวีจึงยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ โดยในชั้นแรกบริษัทไอทีวีแพ้

จากนั้นจึงร้องเป็นครั้งที่ 2 และอนุญาโตฯ วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของ สปน. นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ สปน. ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้บอกเลิกคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ เพราะสปน.เห็นว่าอนุญาโตฯ รับคำฟ้องซ้อนกับเรื่องแรกที่มีคำวินิจฉัยไปแล้ว จึงขอให้เพิกถอน ซึ่งศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า อนุญาโตฯ ชี้ขาดครั้งที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองไม่มีอำนาจไปเพิกถอนตามคำร้องของ สปน. ทั้งนี้เมื่อศาลยกคำพิพากษาดังกล่าว ต่อมา สปน. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และอยู่ระหว่างการพิจารณา ตนจึงนำข้อมูลมาให้ กกต. ประกอบการพิจารณา

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่านายพิธาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในงาน Pride month ที่มีการถามว่ามีการขายหุ้นหรือไม่ แต่นายพิธาไม่ได้ตอบคำถาม อีกทั้ง นายพิธาเคยให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งว่า กรณีที่แย่ที่สุดอาจจะพ้นจากการเป็น ส.ส. แต่บัญชีนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ รวมถึงเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นายพิธา ยังตอบคำถามสื่อมวลชนในกรณีขายหุ้นนั้น เลขาธิการพรรคได้ให้ข้อมูลไปแล้ว ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะตอบเช่นนั้น ควรบอกให้ชัดเจนว่าขายหรือยังไม่ขาย เพราะสิทธิในการขายหุ้น เมื่อนายพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีมา 16 ปี หลักฐานปรากฏชัด เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ แล้วถือมาเกินวันสมัครรับเลือกตั้งแน่นอน เพราะรายชื่อผู้ถือหุ้น ปรากฏวันที่ 16 เม.ย. 66 แต่วันที่รับสมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือวันที่ 3-7 เม.ย. 66

ดังนั้นขอให้ กกต. ตรวจสอบการโอนหุ้นที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งตนไม่ทราบวัตถุประสงค์ เพราะคงไม่ทำให้การสมัคร ส.ส. หรือการยอมรับเป็นบัญชีนายกฯ นั้นเสียไป ที่ไม่เสียไป เพราะเมื่อหากยื่นไปแล้วมีลักษณะต้องห้าม ถ้าศาลตัดสินว่านายพิธาถือหุ้นสื่อ ก็จะหมดสิทธิเป็น ส.ส. และบัญชีนายกฯ ด้วย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 14 ที่ระบุว่าถ้ามีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีหนังสือยินยอม ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อ จึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องสอบถาม หากมีการซื้อขายก็ต้องมีการส่งสำเนาการโอนหุ้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน 2535 หมวด 5 เรื่องผู้ถือหุ้นระบุชัดเจนว่าการโอหุ้นต้องแจ้งใน 7-14 วัน หากไม่แจ้ง จะถือว่าไม่มีการโอนหุ้น ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าน่าจะโอนแล้ว และน่าจะโอนหลังจากที่ตนร้อง

“ขอเรียกร้องไปยังนายพิธา ขอให้เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชนไปเถอะ หากยังไม่ได้โอน ก็ตอบมาเลยว่ายังไม่ได้โอน ถ้าโอน ก็ขอให้แสดงหลักฐานว่าโอนแล้ว และจดแจ้งต่อบริษัทไอทีวีแล้ว แค่นั้นเอง ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะคำว่าโอเพ่นดาต้าของท่านนั่นแหละ ที่ผมเอามาเรียกร้องว่า ทำไมข้อมูลของตัวท่าน ในฐานะที่แสดงตนเป็นหัวหน้าพรรค แต่ทำไมไม่เปิดเผย ทำไมต้องให้ กกต. รับคำร้องผม แล้วถามไป แล้วการที่ขายไปแล้วเจตนาคืออะไร ผมคงไม่ก้าวล่วง แต่ถ้าคิดว่าโอนแล้วจะทำให้กลับมาเป็นบัญชีนายกฯ โดยชอบ ผมคิดว่าก็คงไม่ใช่ เพราะเป็นไปตามข้อกฎหมาย” นายเรืองไกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายเรืองไกร ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ปรากฏว่านายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ได้ยืนรับฟังการให้สัมภาษณ์ด้วย ทำให้นายเรืองไกรให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้ากังวล และระแวดระวังตัวเอง ก่อนจะจบการสัมภาษณ์อย่างรวดเร็ว โดยไม่เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม ขณะที่นายภัทรพงศ์ได้เดินปรี่พยายามเข้าไปประชิดตัวนายเรืองไกร พร้อมตะโกนถามว่า “ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาไหม พี่เป็นคนบุรีรัมย์หรือเปล่า” แต่นายเรืองไกร ไม่เผชิญหน้า แล้วเดินไปยื่นหนังสือต่อ กกต. ต่อ

จากนั้น นายภัทรพงศ์ และ นายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือ ลุงศักดิ์ เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. คัดค้านคำร้องของนายเรืองไกร และบุคคลอื่นที่มายื่นร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยนายภัทรพงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) เท่านั้น จะขายหรือไม่ขายหุ้นไม่มีปัญหาเจตนาที่กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นสื่อ เพราะไม่ต้องการเห็นให้ผู้สมัครนำสื่อที่ตนเองเป็นเจ้าของมาใช้ในการโฆษณาหาเสียง สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับคู่แข่งขัน ซึ่งทั้งสองมาตราเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เราต้องดูบรรทัดฐานสังคม เพิ่งจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.นครนายก มีข้อเท็จจริงที่เสี่ยงว่าจะผิดมากกว่านายพิธาอีก เพราะกิจการสื่อที่นายชาญชัยถือหุ้นอยู่ ยังประกอบกิจการอยู่ แต่บริษัทไอทีวี ได้ยุติการออกอากาศ มาตั้งแต่ปี 51

นอกจากนี้สัดส่วนหุ้นไอทีวีที่นายพิธาถือก็เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นไอทีวีทั้งหมดที่มีอยู่ ทำให้ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ในการจะให้สื่อนั้นมาช่วยหาเสียงให้กับตนได้ และไอทีวีได้หยุดกิจการไปแล้ว การที่นายเรืองไกร หรือใครที่มาร้อง ส่วนใหญ่จะหน้าเดิมๆ ซึ่งสังคมก็ตีหน้าตีตราอยู่แล้วว่าเป็นพวกร้องไร้สาระ และเขารู้ตัวว่า สังคมมองตัวเองอย่างไร แต่มีเหตุจูงใจในการร้อง ก็พูดเพราะเป็นเกมอำนาจทางการเมืองที่ต้องการขัดขวาง ก็หวังว่า กกต. จะปัดตกคำร้องของนายเรืองไกรและผู้อื่นๆ ที่มายื่นร้องเรื่องการถือหุ้นของนายพิธา เหมือนกับที่ปัดตกคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กรณีร้องนโยบายหาเสียงกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ที่ตนได้มายื่นคัดค้านคำร้องของนายศรีสุวรรณ และ กกต. ก็ปัดตกตามที่ตนยื่นร้อง.