เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนถือเป็นภัยทางเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายให้กับประเทศ โดยในแต่ละปีสร้างความเสียหายเป็นเม็ดเงินมหาศาล ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนว่าขบวนการดังกล่าวไม่ได้ลดน้อยลงไป ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาปราบปรามขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควบคุมและดูแลสถานการณ์การลักลอบนำเข้าและส่งออกน้ำมันผิดกฎหมาย เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกันมาก แต่ยังมีการลักลอบ ทั้งนำเข้าและส่งออก อย่างเช่นกรณีของน้ำมันเขียวที่ใช้กับเรือประมง ที่มีการลักลอบนำไปขายต่อในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีของน้ำมันเขียว ซึ่งสามารถสังเกตได้จากจำนวนของน้ำมันเขียวที่ยังมีปริมาณเท่าเดิม แต่จำนวนเรือประมงลดลง สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายของ ศปนม.ตร. ครอบคลุมน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และทุกภาคส่วน ทั้งภาคการประมง และภาคพาณิชย์

โดยทาง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปนม.ตร.) เป็นผู้ขับเคลื่อน บูรณาการร่วมกับกรมประมง กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีการตรวจพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศเพื่อนบ้าน นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยลักลอบนำน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย) เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เหตุที่ราคาน้ำมันของประเทศไทยที่สูงกว่าประเทศมาเลเซียกว่าเท่าตัว ทำให้ผู้กระทำผิดสบช่องโอกาสในการหากำไรจากความต่างดังกล่าว ลักลอบนำน้ำมันมาขายให้กับลูกค้ารายย่อยในพื้นที่ เช่น ปั๊มหลอด โรงงาน รถขนส่ง หรือเรือประมงขนาดเล็ก ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันมากกว่าร้อยล้านบาทต่อปี

แผนประทุษกรรมของขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนส่วนใหญ่ มักจะลักลอบเข้ามาและใช้วิธีในการสำแดงเท็จเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งหลบเลี่ยงภาษี โดยหลักๆ มี 5 รูปแบบ รูปแบบแรก คือการทรานซิสต์ จะใช้วิธีการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยต้นทางจะระบุมากจากประเทศสิงคโปร์, ประเทศมาเลเซีย โดยอ้างไปปลายทางคือประเทศที่สาม อย่างประเทศเวียดนาม หรือกัมพูชา โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อหลบเลี่ยงภาษี แต่ในความเป็นจริง เมื่อเรือเข้าน่านน้ำไทยก็ลักลอบเข้าเทียบท่า เพื่อถ่ายเทน้ำมัน โดยไม่ได้ไปปลายทางตามที่ระบุไว้ โดยในกรณีนี้ จะใช้รูปแบบเดียวกันกับการขนส่งทางบก ซึ่งในแผนประทุษกรรมนี้ทาง ศปนม.ตร. ได้ตรวจสอบล่าสุดในกรณีของเรือสัญชาติตูวาลู ชื่อ “Polestar” ซึ่งอยู่ในความดูแลของ บริษัท เอ็มอาร์บี ชิปเอเจนซี่ จำกัด ออกเดินทางจากประเทศสิงคโปร์ แอบลักลอบเข้าเทียบท่า ณ ท่าเทียบเรือบริษัท เลนโซ่ เทอร์มินอล จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรปราการ พฤติการณ์ของเรือลำนี้ ใช้วิธีการแจ้งสำแดงการนำเข้าอันเป็นเท็จ ใช้วิธีการแจ้งสำแดงการนำเข้าเป็น เอทานอล และ เมทานอล แต่จะลักลอบนำน้ำมันเบนซินครั้งละหลายล้านลิตรซุกซ่อนมาด้วย หากถูกตรวจสอบก็จะใช้วิธีการนำเอกสารเท็จที่เตรียมไว้เพื่อตบตาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ โดยจะอ้างว่าน้ำมันเบนซินเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีปลายทางนำเข้าประเทศไทย แต่จะขนต่อไปประเทศเวียดนาม เพื่อเลี่ยงภาษี

รูปแบบที่สอง น้ำมันส่งออกทางเรือตีกลับ วิธีการนี้จะเป็นการนำน้ำมันไทยส่งออกนอกประเทศแล้วเก็บภาษี และใช้วิธีการตีกลับย้อนเข้ามาโดยไม่ได้ส่งออกจริง หนำซ้ำมีการไปเรียกเก็บภาษีอากร

รูปแบบที่สาม น้ำมันผ่านแดน วิธีการนี้จะนำน้ำมันมาจากมาเลเซีย ก่อนที่จะลักลอบขนโดยใช้พาหนะเป็นรถกระบะดัดแปลงเป็นคาราวานกองทัพมด รูปแบบที่สี่ รับซื้อน้ำมันจากเรือซัพพลาย และเรือบรรทุกน้ำมันที่ขโมยน้ำมันมาขาย และรูปแบบที่ห้า รับซื้อน้ำมันเตาจากเรือบรรทุกน้ำมันที่ขโมยมาขาย.