นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยถึงผลการประชุมปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการ ระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีนายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วย นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน และนางเปรมวดี สันหนู ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (พาณิชย์) ร่วมกับ Datuk Seri Salahuddin Bin Ayub, Menteri Perdagangan Dalam Negeri Dan Kos Sara Hidup. (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าภายใน (Ministry of Domestic Trade and Cost of Living)) ในคราวการเดินทางมาพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการร่วมกับผู้นำที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ศอ.บต. ณ พื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส


สำหรับผลการประชุมหารือที่เป็นข้อเสนอที่ไทยและมาเลเซีย ยินดีจะร่วมมือและสนับสนุนการทำงานร่วมกันใน 5 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอเชิงหลักการที่สำคัญ ได้แก่ 1. การผลักดันความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพี่น้องเกษตรกร ที่จะเริ่มทยอยออกผลผลิตสู่ตลาดในห่วงระยะเวลาต่อจากนี้ อาทิ ผลไม้ ประเภท ลองกอง ทุเรียน เงาะ และมังคุด เป็นต้น ที่จะมีผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดในห้วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2566 นี้ ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ประสงค์ขอให้ประเทศมาเลเซีย เป็นคู่ค้าที่เป็นตลาดหลักที่สำคัญของประเทศไทย และผ่อนคลายมาตรการการค้าและพาณิชย์ของทั้งสองประเทศเพื่อให้ผลิตผลของทั้งสองประเทศสามารถจำหน่ายได้มากขึ้น รวมทั้ง รองรับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตอันใกล้นี้ 2. การขยายช่องทางการตลาดสินค้าฮาลาลที่เป็นผลผลิตจากพี่น้องประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ผ่าน รายการโครงการ “ผลิตภัณฑ์สินค้าดีชายแดนใต้ สู่ ประเทศมาเลเซีย” เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ที่ผลิตสินค้าที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคในประเทศมาเลเซีย ในกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลจากประเทศไทยไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของการจัดชั้นวางสินค้าของไทยในชั้นวางสินค้าร้านค้าสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่อื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น การจัดสินค้าในโลกออนไลน์ รวมทั้งการจัดงานโปรโมตการบริโภคสินค้าของไทยที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาเลเซีย ด้วยการจัดงานโปรโมตตามรัฐต่าง ๆ ในทุกโอกาส อาทิ ข้อเสนอ การจัดมหกรรมว่าด้วยอาหารไทย หรือ “Thai Food Carnival” ในทุก ๆ เดือน ตามที่ทางมาเลเซียเห็นสมควร

ทั้งนี้ โดยขอให้ทางประเทศมาเลเซียมีหนังสือประสานงานมายังประเทศไทย เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อนำไปสู่เรื่องของการดำเนินการดังกล่าวที่เป็นรูปธรรมต่อไป 3. การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ณ พื้นที่ชายแดน เช่น สุไหงโก-ลก-กลันตัน เบตง-เปรัค สะเดา-เคดาห์ สตูล-เปอร์ลิส และปัตตานี-ตรังกานู (ด่านทางน้ำ) เป็นต้น เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกในด้านการค้าแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรได้ โดยในอนาคตอันใกล้คาดหวังว่าพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถพัฒนาเป็น Twin City โดยการจับคู่ 5 รัฐของมาเลเซีย กับ 5 จังหวัดของไทย เพื่อเป็นเมืองพี่เมืองน้องในการพัฒนา การค้าชายแดนร่วมกันต่อไป4. พื้นที่ด่านชายแดน ณ จังหวัดสตูล ผู้ประกอบการฝ่ายไทยมีความประสงค์ขอให้ทางประเทศมาเลเซีย ได้มีการค้าชายแดนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันภายหลังจากสถานการณ์ Covid-19 ได้ยุติลงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการค้าชายแดนยังไม่กลับมาคึกคักเช่นเดิมดังนั้น เนื่องจากสถานการณ์ตลาดการค้าชายแดนของประเทศมาเลเซียยังไม่ได้เปิดดำเนินการ ในขณะที่ฝั่งไทยได้เปิดดำเนินอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้เร่งเปิดตลาดการค้าชายแดนของประเทศมาเลเซีย​ 5.ข้อเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ ระหว่าง กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ประเทศมาเลเซีย กับกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและขั้นตอนการทำงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

โดยจะมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยประสานงานกลาง ของทั้งสองประเทศให้อย่างใกล้ชิดในการนี้ Datuk Seri Salahuddin Bin  Ayub, Menteri Perdagangan  Dalam Negeri Dan Kos Sara Hidup. (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าภายใน (Ministry of Domestic Trade and Cost of Living)) ได้กล่าวขอบคุณ ชื่นชมข้อเสนอการริเริ่มของฝ่ายไทยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้ง 2 ประเทศ อย่างยั่งยืน รวมทั้ง เล็งเห็นความจำเป็นในเรื่องดังกล่าวตามข้อเสนอฝ่ายไทยซึ่งประโยชน์เหล่านี้จะไปสู่พี่น้องประชาชนของทั้ง 2 ประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป พร้อมนี้ Datuk Seri Salahuddin Bin Ayub ได้มอบหมายให้ Datuk Azman Bin Mohd Yusof เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าภายใน (Ministry of Domestic Trade and Cost of Living) เป็นผู้แทนหลักของกระทรวงที่จะนำข้อมูลไปหารือรวมกับฝ่ายราชการของกระทรวงต่อไปและจะได้มีหนังสือเชิญผู้บริหารหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องของไทยไปร่วมประชุมหารือและจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปโดยเร็ว