วันนี้ “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์” มีโอกาสพูดคุยกับ “แสวง บุญมี” เลขาธิการกกต. เล่าถึง การทำงานของกกต. แจกแจงถึงประเด็นร้อนการปล่อยผีไปก่อนแล้วตามสอยทีหลัง รวมถึงปมปัญหา คุณสมบัติของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล

เริ่มกันที่ประเด็นการรับรองส.ส. ไปก่อนแล้วตามสอยทีหลังในส่วนของ ส.ส. 82 คน “แสวง บุญมี บอกว่า หลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว จากนี้ไปกกต. ก็จะขยายความเรื่องการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม คือการทำงานบนหลักการข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง หนึ่งในนั้นคือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายใน 1 ปี โดยเฉพาะ ส.ส. 82  คน ที่มีเรื่องร้องเรียนอยู่

ที่จริงในชั้นของสำนักงานกกต. และคณะกรรมการกกต. มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเกือบ 300 เรื่อง เรื่องที่ไม่ซับซ้อน และได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็พิจารณาจบไปแล้ว ส่วนเรื่องที่ซับซ้อนและมีมูลที่จะต้องดำเนินการต่อ อาจจะถึงมีโทษหรือไม่ก็ตาม แต่จนถึง ณ วันที่เราประกาศรับรองไปนั้น ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงแล้ว แต่เมื่อคำนวณระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนประกาศผล 60 วัน อาจจะไม่เสร็จ จึงประกาศผลไปก่อน และเดินหน้าพิจารณาเรื่องเหล่านี้ และส่งศาลฎีกาพิจารณาต่อได้ โดยจะตรวจสอบและพิจารณาไปทีละคน คนไหนผลออกมาก่อน ก็เสนอ กกต.พิจารณาเลย หากกกต.เห็นสมควรว่าต้องเลือกตั้งใหม่ หรือควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็ส่งไปที่ศาลฎีกาเลย ซึ่งการดำเนินการตรงนี้มีระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศรับรอง แต่เชื่อว่าจะทำได้เร็วกว่า 1 ปี ทุกฝ่ายจะได้ทำงานโดยไม่ต้องมีข้อกังวลอะไร

@ มีการวิพากษ์วิจารณ์การที่กกต.ตั้งสอบคุณสมบัตินายพิธา เป็นการกลั่นแกล้ง

กกต.ทำงานบนพื้นฐานของกฎหมายและข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องกลั่นแกล้งนั้นตนตอบแทนสำนักงานกกต. และกรรมการฯ ได้เลยว่า เราไม่เคยกลั่นแกล้งใคร เราไม่ทำงานบนแรงจูงใจทางการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีผู้มาร้องเรียน และก็มีอีกฝ่ายสนับสนุนไม่อยากให้ลงโทษ แต่ทุกฝ่ายควรดูว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างไร เขียนไว้เป็นความผิดหรือไม่ มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วดูว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ หากกกต.ไม่พิจารณาก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“ดังนั้นไม่ว่าฝั่งไหนก็มองว่ากกต.ผิดอยู่แล้ว เราจึงต้องทำตามกฎหมายที่มี ไม่มีว่ากกต.แกล้งหรือไม่แกล้ง นั่นเป็นแค่ความรู้สึกนึกคิดของคนที่สนับสนุน หรือคนที่ต้องการให้เป็น ซึ่งเราไม่ได้ไปเอาตรงนั้นมาพิจารณา เมื่อกฎหมาย และข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ เมื่อตัดสินไปแล้วทุกฝ่ายก็ควรจะยอมรับ เพราะสังคมอยู่รวมกันด้วยกฎหมาย กฎเกณฑ์ ถ้าเราใช้ความรู้สึก หรือความต้องการขับเคลื่อนประเทศ เหมือนเราถอยหลังไปหาจุดไหนก็ไม่รู้”

@ มีคนมองว่ากกต.ตั้งสอบตามมาตรา 151 อย่างรวดเร็วเพราะมีใบสั่งเพื่อหวังให้มีผลต่อการตัดสินใจโหวตนายกฯหรือไม่

ไม่มีเร็ว มีช้า เพราะ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 300 กว่าเรื่อง เราพิจารณาทั้งหมด แต่ไม่มีคนสนใจ แต่สนใจเรื่องหุ้นสื่อ ซึ่งดูระยะเวลาก็เดือนกว่า ก็ใช้เวลาตามสมควร และมีการพิจารณาว่าได้ดำเนินการ ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เชิญผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งในแง่ของเวลานั้น มีกฎหมายว่าด้วยขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม เร็ว และยุติธรรม ที่จริงการพิสูจน์ได้เร็ว หากไม่ผิดก็พิสูจน์ตัวตนของผู้เกี่ยวข้องว่าไม่ได้ทำผิดอะไร แต่การปล่อยไว้นานก็ไม่ใช่ผลดี ไม่เช่นนั้นคงไม่มีกฎหมายว่าด้วยกระบวนการขั้นตอนยุติธรรมเพื่อเร่งรัดคดีเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นสำหรับผมไม่ถือว่าเร็ว ไม่ถือว่าช้า เราทำเหมือนๆ กันทุกสำนวน

@ มีคนมองว่าการถือหุ้นสื่อนายพิธา แค่เล็กน้อย

กฎหมายไม่มีเล็กน้อย กฎหมายก็คือกฎหมาย  ต้องแยกว่าเมื่อมีปัญหาก็ต้องตัดสินกันที่กฎหมาย ไม่ใช่ตัดสินใจบนเรื่องว่ามีประชาชนเลือกมาเท่าไหร่ นั่นคือความชอบธรรมที่ได้รับการเลือกตั้งมา แต่คนละส่วนกับการทำผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ คิดว่าไม่ว่านักการเมืองฝ่ายไหนก็ต้องได้รับการตรวจสอบทุกฝ่าย เพราะตอนนี้ก็มีการร้องเรียนพรรคการเมืองมาทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องยุบพรรค 70-80 เรื่อง สั่งยุติไป 60 เรื่อง เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะไปยุบ ที่เหลืออยู่ระหว่างหาข้อเท็จจริง

ขอย้ำว่า การเลือกตั้งคือความชอบธรรมที่ได้รับจากประชาชน แต่ไม่ได้บอกว่าได้รับการเลือกตั้งมาก จะทำผิดไม่ได้ ทุกเรื่องมีทางออก มีวิธีการ ช่องทางของมัน   

คนอาจจะรู้สึกว่าเราจะกลั่นแกล้ง แต่ที่จริงมีคนมาร้องเรียน กกต.ก็ต้องทำให้สิ้นกระแสความ ต้องเข้าใจตรงนี้ เมื่อมีคนมาร้อง กกต.อยู่เฉยไม่ได้ ถ้าอยู่เฉยก็ผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ถูกฟ้อง

“แต่ละฝ่ายจะมาบอกว่ากกต.กลั่นแกล้ง กลั่นแกล้งตรงไหน ทุกเรื่องมีคำอธิบาย เมื่อคนสงสัยก็มาหาที่ร้อง หากไม่มีหน่วยงานดำเนินการท่านก็ต้องไปทะเลาะกันเอง แล้วจะมีปัญหา แล้วจะยุติตรงไหน”    

@ กกต.เกษียณอายุราชการ เหลือปฏิบัติงาน 5 คน จะมีผลกระทบกับการทำงานหรือไม่

กฎหมายให้ทำงานได้ พิจารณาต่อได้เลย เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำได้ เพียงแต่เราก็ต้องรอการสรรหาเข้ามาเพิ่มอีก 2 ตำแหน่ง เพราะก่อนหน้านี้มีเกษียณไปแล้ว 1 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการสรรหา ในชั้นวุฒิสภา และกำลังจะเกษียณอีก 1 คน ในวันที่ 28 มิ.ย.

@ ถอดบทเรียนการเลือกตั้ง 2566 อย่างไร

มีหลายเรื่องที่เราพอใจ เช่น 1.การตื่นตัวของประชาชน 2. เรื่องการหาเสียงเชิงอุดมการณ์ ที่มีคนไปแบ่งฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายเสรีนิยม แต่จริงๆ ทุกคนเป็นประชาธิปไตยหมด 3. นโยบาย คนให้ความสำคัญกับนโยบาย ที่มีผลกับอนาคต นับเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี  

สิ่งที่ไม่ค่อยสบายใจ คือการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้การเลือกตั้งไม่ตรงไปตรงมา เช่น ข่าวทางโซเชียลมีเดีย คิดว่า 80% เป็นข่าวบิดเบือน เป็นการทำลายระบบ ทำลายระบบการเลือกตั้งที่ดี ทั้งที่ควรเป็นเครื่องมือที่ทำให้บ้านเมืองเดินไปสู่อนาคตอย่างดี และสวยงาม  ส่วนการบริหารจัดการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าเรายังทำงานได้ไม่เต็มอย่างที่หวัง มีผิดพลาดคาดเคลื่อนพอสมควรเพราะทำงานกับคนจำนวนมาก แต่ก็พยายามจัดการเลือกตั้งให้ดีเพื่ออำนวยความสะดวก และรักษาสิทธิ์ประชาชนที่ไปออกเสียงลงคะแนนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิ์จริงๆ สิ่งหนึ่งคือประชาชนอาจจะไม่เชื่อในกกต. แต่ผมรับประกันว่า ทำงานทุกครั้งอย่างตรงไปตรงมา

@ หลายเดือนมานี้ ท้อหรือไม่กับคำว่า “กกต.มีไว้ทำไม”

อย่างที่บอกเมื่อมีข่าวบิดเบือน เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครผิดที่คิดบนความต้องการของตัวเอง แต่มันควรจะจบด้วยกฎเกณฑ์และข้อเท็จจริง  คำกล่าวหา ติฉินนินทา อย่าบอกว่าชอบหรือไม่ชอบ เรารับสภาพนี้อยู่แล้ว ท่ามกลางความต้องการ บริบทการเมืองแบบนี้ ทุกฝ่ายต้องการเป็นผู้ชนะ เราเป็นกรรมการ เรื่องทุกเรื่องตัดสินไป มีคนได้คนเสียแน่นอน เมื่อไม่ได้ตามความต้องการก็อาจจะมีความรู้สึกอยู่บ้าง แต่เรารับได้ไม่ได้ท้อ เพราะการเลือกตั้งและกกต.เป็นของคู่กัน เราต้องเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนทุกฝ่าย โดยใช้วิธีการทำกรเลือกตั้งให้ออกมาดี และได้รับความร่วมมือจากทุกคนในประเทศ ถึงจะออกมาดีได้

“ทุกการแข่งขันจำเป็นต้องมีกรรมการ”