หนึ่งในปัญหาของคนกู้บ้านที่เจอมากที่สุดคือ ดอกเบี้ยลอยตัวเมื่อผ่อนชำระค่างวดไปได้ 3 ปี ทำให้ดอกเบี้ยพุ่งกว่าเดิมมาก และบางรายอาจกระทบกับการผ่อนค่างวด บางรายถูกตัดเงินต้นไปน้อยกว่าดอกเบี้ยเสียอีก จึงเป็นที่มาของ การรีไฟแนนซ์บ้าน คือการย้ายธนาคารเมื่อดอกเบี้ยแพงจนรับไม่ไหว เพราะการรีไฟแนนซ์ ทำให้ดอกเบี้ยบ้านนั้นถูกลง และค่างวดของเราน้อยกว่าเดิมได้อีกด้วย

สำหรับวิธีการรีไฟแนนซ์บ้าน มี 7 ขั้นตอน ดังนี้

1.ตรวจสอบสัญญากู้

ตรวจสอบสัญญาว่า เราสามารถรีไฟแนนซ์หรือย้ายออกจากธนาคารเดิมตามสัญญาเมื่อไร ส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะอนุญาตให้รีไฟแนนซ์ได้หลังผ่อนชำระครบ 3 ปี แต่หากต้องการรีไฟแนนซ์ก่อน เราก็จะต้องชำระค่าปรับให้กับทางธนาคาร

2.ตรวจสอบข้อมูลยอดหนี้คงเหลือ

ตรวจสอบข้อมูลยอดหนี้คงเหลือ โดยสามารถทำได้ผ่านการติดต่อกับธนาคารเดิมเพื่อสรุปยอดหนี้สินที่ต้องการผ่อนชำระ โดยข้อมูลยอดคงเหลือ และข้อมูลการผ่อนชำระ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายธนาคารใหม่ เพื่อทำการรีไฟแนนซ์บ้านผ่านการนำยอดหนี้ที่เหลือไปคำนวณกับข้อเสนอที่ธนาคารมอบให้

3.มองหาธนาคารที่เหมาะสม

อีกหนึ่งขั้นตอนของวิธีรีไฟแนนซ์บ้านที่สำคัญ คือ การเลือกธนาคารใหม่ อาจเปรียบเทียบจากข้อเสนอดอกเบี้ยและระยะเวลาการผ่อน รวมไปถึงระยะเวลาในการชำระหนี้ ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีโปรโมชั่นให้เลือก เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น

4.เตรียมเอกสารในการรีไฟแนนซ์บ้านให้พร้อม

การรีไฟแนนซ์ต้องเตรียมเอกสารหลายส่วนเพื่อใช้ในการทำสัญญา เพราะการรีไฟแนนซ์จะคล้าย ๆ กับการยื่นกู้เพื่อซื้อบ้านใหม่อีกรอบ โดยเอกสารที่ต้องเตรียมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

4.1 เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล

– สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรข้าราชการ

– สำเนาทะเบียนบ้าน

– สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของคู่สมรส (ถ้ามี)

– สำเนาทะเบียนสมรส/หย่า/ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

– สำเนาใบมรณบัตรและทะเบียนสมรสของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)

4.2 เอกสารแสดงรายได้

กรณีบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ประจำ ดังนี้

– หนังสือรับรองการทำงาน หรือสำเนาสลิปเงินเดือน (ฉบับล่าสุด) (สำเนาสลิปเงินเดือนย้อนหลัง 12 เดือน กรณีมีรายได้เป็น commission)

– หนังสือรับรองโบนัสประจำ (ถ้ามี)

– สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน (ย้อนหลัง 12 เดือน กรณีมีรายได้เป็น commission)

– แบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (50 ทวิ และ ภงด.90/91) พร้อมใบเสร็จการชำระภาษีย้อนหลัง 2 ปี

กรณีบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ดังนี้

– สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า ไม่เกิน 3 เดือน

– สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่อผู้กู้/ผู้กู้ร่วม ไม่เกิน 3 เดือน

– สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน (ทั้งในนามบุคคลและกิจการ)

– สำเนา ภ.พ.30 พร้อมใบเสร็จ (ถ้ามี)

– สำเนา ภ.พ.20 (ถ้ามี)

– สำเนาบริคณห์สนธิ ไม่เกิน 3 เดือน

4.3 เอกสารด้านหลักประกัน

– สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน เช่น โฉนดที่ดิน หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (ขนาดเท่าตัวจริงทุกหน้า)

– ใบอนุญาตปลูกสร้าง/หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง เช่น สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน (ทด.13) หรือหนังสือสัญญาให้ที่ดิน (ทด.14)

– สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (กรณีถ้ามีสัญญาเงินกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอื่นและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ)

– แผนที่ตั้งหลักประกันโดยสังเขป

– สำเนาสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงินเดิม

– สำเนาใบเสร็จเงินกู้เดือนล่าสุด

5.ยื่นขอสินเชื่อสำหรับการรีไฟแนนซ์บ้าน

เมื่อเตรียมเอกสารไว้พร้อมแล้ว สามารถเข้าไปขอสินเชื่อกับทางธนาคารได้โดยตรง และเมื่อธนาคารรับเรื่องแล้ว จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินราคาหลักประกัน เพื่อประกอบการอนุมัติสินเชื่อรีไฟแนนซ์ และเมื่อธนาคารใหม่อนุมัติสินเชื่อรีไฟแนนซ์แล้ว จะติดต่อกับธนาคารเดิมเพื่อสอบถามหนี้คงเหลือ และนัดวันไถ่ถอนต่อไป

6.เตรียมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

ต่อมาเมื่อธนาคารใหม่อนุมัติสินเชื่อแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียม คือ เตรียมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์จะน้อยกว่าการซื้อบ้านแบบปกติ

7.ทำสัญญาและจดจำนองที่กรมที่ดิน

ขั้นตอนรีไฟแนนซ์บ้านสุดท้าย ทางธนาคารจะมีเจ้าหน้าที่ถือสัญญาไปให้เซ็นที่กรมที่ดิน พร้อมกับการทำสัญญาจดจำนองในวันเดียวกัน หลังทำสัญญาและจดจำนองเรียบร้อยแล้ว ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นการรีไฟแนนซ์บ้าน

เพียงแค่นี้เราก็ทำการผ่อนชำระในสัญญาใหม่กับธนาคารแห่งใหม่ ที่มีดอกเบี้ยใหม่ถูกกว่าเดิม เป็นอันเสร็จตาม 7 ขั้นตอนของการรีไฟแนนซ์บ้านกันแล้ว!

(ข้อมูล : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา)