เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) เปิดเผยถึงจากกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง วุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวภายหลังการเข้าหารือ พร้อมคณะกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กับนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายแสวง บุญมีเลขาธิการกกต. พร้อมคณะกกต. โดยได้มีการมอบหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่าความคืบหน้ากรณี กกต.สั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฎต่อ กกต.ว่า นายพิธาเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนของสำนักงานกกต.

ส่วนกรณีคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ มาหารือนั้น เป็นเรื่องเลือกตั้งในภาพรวม และมอบเอกสารที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับคำร้องเรื่องหุ้นให้พิจารณาใช้ประโยชน์ ขณะที่การทำงานของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนของสำนักงานกกต. ใกล้จะครบกรอบเวลาแล้วนั้น แหล่งข่าวระบุว่าอาจต้องขอขยายเวลา โดยต้องขอขยายเวลาอีก 15 วัน ผ่านเลขาธิการกกต.

ทางด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ EMS ถึงประธานกกต.ขอให้ตรวจสอบกรณี เมื่อวันที่ 27 เม.ย.66 สำนักงานกกต. โดยนายแสวงในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหนังสือตอบกลับมายังตนว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่รับคำร้องของตนฉบับลงวันที่ 3 มี.ค.66 ที่ยื่นร้องยุบพรรคก้าวไกลไว้ดำเนินการ เนื่องจากเมื่อไปตรวจสอบสารบบหนังสือคำร้องที่ตนยื่นต่อกกต. ก็ไม่พบหนังสือฉบับลงวันที่ 3 มี.ค. 66 ตามที่ กกต. อ้างถึง พบเพียงหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 เม.ย.66 ที่ตนยื่นร้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่ส่งไปทางไปรษณีย์ EMS เท่านั้น จึงต้องการให้ กกต. ตรวจสอบยืนยันว่า หนังสือคำร้องของตนที่กกต.อ้างฉบับลงวันที่ 3 มี.ค.66 นั้นมีใจความว่าอย่างไร ถูกต้องตรงกับที่ กกต. อ้างถึงหรือไม่และแจ้งผลการตรวจสอบให้ตนทราบด้วย

“ตามข่าวศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดที่สั่งให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบว่าได้มีการรับหรือไม่รับคำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเสนอเป็นนโยบายหาเสียง เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่ ทำให้นึกถึงคำร้องที่เคยยื่น กกต. ซึ่งมีการตอบกลับมาแล้วว่า ไม่รับคำร้องไว้ดำเนินการ จึงต้องย้อนไปตรวจหนังสือ กกต. ที่ตอบกลับมา แต่ก็พบว่า หนังสือร้องของตนที่ กกต. อ้างถึง ไม่มีในสารบบที่จัดเก็บไว้ “

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเด็นที่นายเรืองไกร มีการยื่นร้องต่อกกต. และนายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นไปเมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย.ให้ยุติเรื่องเนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูล เป็นการร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลจาก 3  ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจะยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 คือ1.กรณีเว็บไซต์มติชนออนไลน์ พาดหัวข่าวกรณีนายพิธาตอบคำถามว่าพรรคก้าวไกลจะมีนโยบายยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ 2.กรณีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยข้อความว่า “จุดยืนเรื่องส่วนตัวและจุดยืนของพรรคก้าวไกล เรื่องมาตรา 112 และ 3.กรณีนางอมรัตน์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยข้อความว่า #ยกเลิก 112 “112 เป็นกฎหมายหรือเปล่า ถ้าเป็นต้องแก้ไขให้เหมาะสมกับยุคสมัยได้ ไปจนถึงต้องยกเลิกได้ ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าสังคมมีฉันทามติร่วมกัน หยุดลิดรอนเสรีภาพในการรณรงค์แสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย