จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของ บริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่ามีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้เสียหายหลายรายในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ เข้าเร่งรัดติดตามความคืบหน้าทางคดี พร้อมขอให้ดีเอสไอ เร่งอายัดทรัพย์สินให้ได้จำนวนมากที่สุด เพื่อเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 4 ก.ค. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยรายละเอียดทางคดีเพิ่มเติมจาก พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ว่า เบื้องต้นเราได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาไปแล้ว 2 รายตามที่ปรากฏเป็นข่าว คือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท และนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตกรรมการบริษัท ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ของทั้งคู่ทางไปรษณีย์ คาดว่าจะได้รับหมายเรียกในเร็วๆ นี้ ขณะนี้จึงยังไม่มีการประสานมาของทั้งสองคนว่า ประสงค์จะขอเลื่อนหมายเรียกผู้ต้องหาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากทั้งสองคนได้รับหมายเรียกแล้ว ก็สามารถแจ้งเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับทางพนักงานสอบสวนได้ ถือเป็นสิทธิโดยชอบตามกฎหมาย ซึ่งการออกหมายเรียกผู้ต้องหานั้น เราจะสามารถดำเนินการออกได้ 2 ครั้ง หากทั้งสองครั้งดังกล่าว ไร้ซึ่งการตอบกลับใดๆ จากผู้ต้องหา ไม่มีการเข้าพบพนักงานสอบสวน หรือหายเงียบติดต่อไม่ได้ จากนั้นเราจะดำเนินการทางเอกสาร เพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับตามพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า ผู้ต้องหามีเจตนาตั้งใจหลบหนี

เมื่อถามว่ามีรายงานข่าวระบุว่า นายชนินทร์ อาจไม่ได้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว จากการข่าวของทางดีเอสไอ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะเจ้าตัวอาจไม่ได้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาตามวันเวลานัดหมาย (วันพฤหัสบดีที่ 6 ก.ค. เวลา 10.30 น.) พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ระบุว่า หากการออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งสองครั้ง ไม่มีการตอบกลับใดๆ ไม่มีการมอบหมายทนายความมาส่งหนังสือชี้แจงการไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว จะถือว่าเป็นพฤติกรรมการขัดต่อหมายเรียก มีเจตนาตั้งใจหลบหนี เราก็จะขอศาลอนุมัติหมายจับตามขั้นตอน ส่วนถ้าผู้ต้องหามีการประสานติดต่อว่าจะกลับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน เราก็ยืนยันว่าจะรอ เพื่อที่เจ้าตัวจะได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย ส่วนประเด็นที่พนักงานสอบสวนจะใช้ในการสอบปากคำ หรือเอกสารที่ผู้ต้องหาจะต้องนำมาประกอบการให้ปากคำนั้น ส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ถูกแจ้งไป อาทิ เอกสารทั้งหมดของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)/เอกสารทั้งหมดของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น รวมถึงบริษัทต่างๆ ที่เจ้าตัวมีความเกี่ยวข้อง สามารถนำมาใช้ประกอบการให้ปากคำได้ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนจะต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ประกอบพิจารณากับคำให้การของพยานบุคคลทุกราย ก่อนมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาแก่คนอื่นๆ หรืออาจจะเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหา หากมีพฤติการณ์สอดคล้องเข้าองค์ประกอบฐานความผิดใด

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ระบุอีกว่า ในส่วนของการอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับหุ้น STARK นั้น ยังคงอายัดไป 100 ล้านบาทเช่นเดิม ยังไม่ได้มีการอายัดเพิ่ม เเต่เราจะเร่งติดตามรายการทรัพย์สินให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย นอกจากนี้ ในขั้นตอนของการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เสียหาย ตนอยากให้เป็นตัวแทนของผู้เสียหายได้ให้ปากคำกับเรา เพราะคดีของเราต้องเรียนตามตรงว่า ไม่เหมือนคดีแชร์ลูกโซ่ ที่จะต้องใช้การสอบปากคำกับผู้เสียหายจำนวนมาก เนื่องด้วยกองคดีของเรา ดำเนินคดีกับผู้บริหารที่กระทำความผิด จึงจะมีการสอบปากคำผู้เสียหายจำนวนไม่มาก ขณะที่ทางด้านผู้เสียหายในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ ตนมองว่าพวกเขาจะต้องรวมกลุ่มเพื่อดำเนินการฟ้องแพ่ง เพื่อให้บริษัทฯ มีการจ่ายค่าตอบแทน หรือดอกเบี้ยตามกำหนดระยะเวลาที่พวกเขาไปซื้อหุ้นกู้ อีกทั้งเมื่อครบสัญญาของหุ้น ก็จะต้องคืนเงินต้นด้วย แต่ในกรณีนี้ เกิดปัญหาที่บริษัทฯ ไม่มีเงินจ่าย

ส่วนการที่นายศรัทธา อดีตกรรมการบริษัท ได้ไปให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย” เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับที่ตัวเองไปมีบทบาทกับการตกแต่งบัญชีอย่างไรนั้น พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ระบุว่า ไม่เป็นไร ถือเป็นสิทธิของบุคคลที่จะพูดกล่าวอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาให้ปากคำในฐานะผู้ต้องหาตามหมายเรียกของดีเอสไอแล้ว เจ้าตัวก็มีหน้าที่ให้ปากคำชี้แจง เพื่อพนักงานสอบสวนจะทำการบันทึกถ้อยคำให้การเหล่านั้น ก่อนนำไปพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆ ที่รวบรวมไว้

สำหรับอีก 4 บริษัทสำคัญ ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด, บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เราได้มีการวางกรอบอยู่ในแผนของการสอบสวนว่า จากนี้จะมีการออกหมายเรียกให้ผู้บริหารและกรรมการบางส่วนของทั้ง 4 บริษัท เข้าให้การในฐานะพยาน เนื่องจากพยานหลักฐานและการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า ในบรรดากรรมการของบริษัทเหล่านี้ มีรายชื่ออยู่ใน 7 คน ที่เคยยื่นลาออกจากบริษัท สตาร์คฯ เมื่อครั้งเป็นโครงสร้างผู้บริหารชุดเดิม ที่มีนายชนินทร์ เย็นสุดใจ เป็นประธานกรรมการ มีความเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการตกแต่งบัญชีที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมจากเหตุการณ์มหากาพย์โกงหุ้น STARK ว่า การซื้อหุ้นกู้ เป็นเหมือนการลงทุนหุ้น ซึ่งมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว และไม่ใช่การถูกหลอกเหมือนแชร์ลูกโซ่ ที่ต้องเอาเงินจากผู้ลงทุนรายเก่ามาหมุนเวียนจ่ายให้รายใหม่ พอไม่มีเงินหมุนเวียน แชร์จึงล้ม แต่การลงทุนหุ้นกู้นั้น มันมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนเข้าใจตั้งแต่ต้น