เมื่อเวันที่ 13 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญที่สำคัญคือการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นายประพันธ์ คูณมี ส.ว. กล่าวว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอชื่อบุคคลมีลักษณะต้องห้าม ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 159 และมาตรา 160 โดยมาตรา 160 (6) ระบุคุณสมบัติคนเป็นรัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) คือไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ แต่นายพิธามีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 98 (3) ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาได้ เพราะมีลักษณะต้องห้าม การเสนอชื่อนายพิธาจึงไม่ชอบ ยิ่ง กกต. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. นายพิธาสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องทางธุรการแล้ว แสดงให้เห็นว่า นายพิธามีคุณสมบัติต้องห้าม ตามความเห็นเป็นที่ยุติของ กกต. สภาต้องพิจารณาว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นการเสนอชื่อโดยชอบ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้อาจมีคนแย้งว่า ยังไม่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถึงที่สุด แต่ปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องคุณสมบัติ ส.ส. วิญญูชนวินิจฉัยได้ ไม่ต้องไปถามศาล การให้ศาลวินิจฉัยเพราะ กกต. เห็นว่า สมาชิกภาพ ส.ส. นายพิธาสิ้นสุดแล้ว แต่ไม่ยอมรับ

“ดังนั้นรัฐสภาไม่อาจรับการเสนอชื่อนายพิธาได้ หากให้ความเห็นชอบย่อมขัดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา คนที่ลงมติย่อมรู้อยู่แล้ว หากคนที่ลงมติมีคุณสมบัติไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังลงมติ อาจเป็นความผิดร้ายแรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการนำชื่อคนมีลักษณะต้องห้ามขึ้นทูลเกล้าฯ ย่อมมิบังควร สมาชิกรัฐสภาควรใช้ดุลพินิจว่า เมื่อมีลักษณะต้องห้าม ไม่สามารถเสนอชื่อได้ หากดึงดันลงมติ อาจถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ขอคัดค้านการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ประธานพิจารณาด้วย” นายประพันธ์ กล่าว.