ตามที่ “เดลินิวส์” เสนอข่าวปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจยึดคอนเทนเนอร์บรรจุเนื้อหมูแช่แข็ง 161 ตู้ น้ำหนัก 4.6 ล้าน กก. มูลค่ากว่า 460 ล้านบาท ซึ่งสำแดงเท็จเป็นเม็ดพลาสติกและสินค้าแช่แข็ง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประกอบการว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานกรรมการสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องเผชิญปัญหาเลี้ยงแล้วขาดทุนมาก เนื่องจากราคาขายต่ำกว่าต้นทุนที่เลี้ยงไว้ โดยต้นทุนการเลี้ยงหมู ตามข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ อยู่ที่ กก. 96 บาท แต่ปัจจุบันขายได้เพียง 65-70 บาท เรียกว่าหมูทุก 1 ตัวจะขาดทุน 2,000 บาท หรือจับกันรอบหนึ่ง 25-30 ตัว จะขาดทุน 60,000-70,000 บาททันที

นายเสน่ห์ กล่าวต่อว่า ต้นเหตุที่ทำให้เนื้อหมูราคาตกต่ำมาจาก 3 ประเด็นใหญ่ ประกอบด้วย 1.ปัญหาการลักลอบเนื้อหมูเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สมัยที่มีโรคระบาดและหมูเนื้อแดง กก. 200-250 บาท มีการลักลอบเข้ามามาก แต่ระยะหลังมีการลักลอบนำเข้ามาน้อยลง เนื่องจากกรมศุลกากรมีการเพิ่มความเข้มงวดจับกุม อีกทั้งเนื้อสุกรในประเทศก็เริ่มถูกลง โดยปัจจุบันราคาหน้าเขียงเหลือ กก.120-130 บาทเท่านั้น

นายเสห่น์ กล่าวอีกว่า ส่วนสาเหตุที่ 2.มาจากก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ มีการห้ามส่งออกสุกร จนทำให้มีปริมาณหมูค้างสต๊อกอยู่ในฟาร์มจำนวนมาก จนไม่สามารถระบายออกไปขายได้ แต่ขณะนี้ก็ได้ปลดล็อกให้ส่งออกหมูไปประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว เช่น ลาว กัมพูชาสิงคโปร์ และ 3.สาเหตุมาจากผู้เลี้ยงรายใหญ่มีการเพิ่มการเลี้ยงหมูไว้มาก และได้ทยอยระบายหมูออกมาสู่ตลาด ทำให้หมูราคาตกต่ำเรื่อยๆ และผู้เลี้ยงรายย่อยก็ต้องเดือดร้อนสู้ราคาไม่ได้ เพราะเฉลี่ยต้นทุนการเลี้ยงรายย่อยจะสูงกว่ารายใหญ่เกือบ กก.ละ 10 บาท ที่สำคัญผู้เลี้ยงรายใหญ่บางรายยังมีช่องทางจำหน่ายเอง ยิ่งทำให้ได้เปรียบรายย่อยไปอีก

นายเสน่ห์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์การเลี้ยงหมูในประเทศ กลับมาใกล้เคียงภาวะปกติแล้ว หลังจากช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้สมัยเกิดโรคระบาด ปริมาณหมูเคยลดลงเหลือ 6 แสนตัว แต่ขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเป็น 8-9 แสนตัว และมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศที่ตกเฉลี่ย 52,000 ตัวต่อวัน โดยปริมาณหมูที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะมาจากผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่เพิ่มปริมาณการเลี้ยงหลังจากขายได้ราคาดีช่วงก่อน ขณะที่รายย่อยก็กลับมาเลี้ยงเพิ่มบ้าง แต่มีสัดส่วนไม่มาก โดยเมื่อเทียบสัดส่วนผู้เลี้ยงรายใหญ่และรายกลางประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายย่อยมี 30 เปอร์เซ็นต์

“สำหรับแนวทางที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ อยากให้กรมศุลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดดูแลปัญหาหมูเถื่อนลักลอบอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพราะช่วง 2 เดือนมานี้หมูเถื่อนก็เริ่มลดลงไป แต่ที่สำคัญขอให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่ลดจำนวนหมูขุนลง เพื่อให้เนื้อหมูมีปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพตลาด เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงที่หมูกำไรดี มีการเพิ่มปริมาณหมูขุนเข้ามามากไป แม้ตอนนี้จำนวนหมูจะใกล้เคียงกับสภาวะปกติ แต่ปัญหาคือหมูแต่ละตัวมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หลังจากมีการชะลอเข้าโรงเชือดไปก่อนหน้านี้ ทำให้หมูแต่ละตัวปกติจะหนักเฉลี่ย 100 กก. เพิ่มเป็นหนักตัวละ 120-140 กก.ส่งผลให้มีปริมาณเนื้อหมูออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เช่น ทุกวันนี้หมู 3 ตัว หากเชือดออกมา จะหนักเท่ากับหมูในช่วงปกติ 4 ตัว” นายเสห่น์ กล่าว.