นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ ปัจจุบันของ จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 248 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ปี 65 จำนวน 79 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแหล่งน้ำขนาดกลาง 1 แห่ง จาก 11 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 คือ อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย จากการตรวจสอบไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค แต่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในเขต 16 ตำบล 13 อำเภอ และเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือแล้ว และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ทั้ง 12 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากสถานการณ์เอลนีโญ เพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์

สทนช. ได้ศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง บุรีรัมย์-สุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ (บางส่วน) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สภาพพื้นที่และปัญหาของพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก โดยจัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้เข้าถึงน้ำประปาทุกหมู่บ้านและชุมชนจำนวน 45,955 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 370 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 370,000 ไร่ 

จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ณ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 11.2 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 และ อ่างฯ ห้วยตลาด มีปริมาณน้ำ 12.9 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นแหล่งน้ำหลักด้านอุปโภคบริโภคที่หล่อเลี้ยงอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำ จะเพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ชุมชนเมืองบุรีรัมย์และได้กำชับให้เตรียมการรับสถานการณ์เอลนีโญ ติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดให้เพียงพอถึงฤดูแล้งปี 67/68

สำหรับการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชน ได้มีการลงพื้นที่ติดตาม โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ณ บ้านอุบลสามัคคี หมู่ที่ 11 ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 และ อบต.โนนสุวรรณ จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 66 โดยเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงและสร้างระบบกระจายน้ำ ส่งน้ำมายังโรงพยาบาลโนนสุวรรณ ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และส่งน้ำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยโครงการฯ ดังกล่าว สามารถเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ 1.06 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี มีผู้ได้รับประโยชน์ 400 ครัวเรือน และในอนาคตสามารถขยายพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ ได้รวมกว่า 2,000 ครัวเรือน