นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการทางพิเศษ (ด่วน) ฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 24,060 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หลังจากนี้ กทพ. จะเร่งจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อเสนอ ครม. เห็นชอบ และออกประกาศได้ภายในปี 66 โดยจะดำเนินการควบคู่กับการเตรียมเปิดประกวดราคา (ประมูล) ซึ่งขณะนี้ กทพ. ออกแบบแล้วเสร็จ รวมถึงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 66 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นจะได้ผู้ชนะประมูลเดือน พ.ย. 66 เริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และก่อสร้างต้นปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการปี 70 ช่วยรองรับการเดินทาง และขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จ.ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นในรองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนา 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ทางด่วนสายดังกล่าวเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันอออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จ.ปทุมธานี มีทางขึ้นลง ได้แก่ ตำแหน่งที่ 1 ทางขึ้นลง กม.1+900 บริเวณทางแยกต่างระดับจตุโชติ, ตำแหน่งที่ 2-1 ทางขึ้นลง กม.4+000 จตุโชติ-1 และหทัยราษฎร์-1, ตำแหน่งที่ 2-2 ทางขึ้นลง กม.5+000 บริเวณทางต่างระดับทหัยราษฎร์, ตำแหน่งที่ 2-3 ทางขึ้นลง กม.6+200 บริเวณหทัยราษฎร์-2 และตำแหน่งที่ 3 ทางขึ้นลงบริเวณ กม.14+000 บริเวณลำลูกกา 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ทางด่วนสายนี้รองรับความเร็วได้ 120 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) จำกัดความเร็วบริเวณทางร่วม และทางแยกต่างระดับ จัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ 36,625 คันต่อวัน แบ่งเป็น รถ 4 ล้อ 34,081 คัน, รถ 6-10 ล้อ 1,387 คัน และรถมากกว่า 10 ล้อ1,157 คัน ประมาณการรายได้ค่าผ่านทาง ณ ปีเปิดให้บริการ 1,391,445 บาทต่อวัน อัตราค่าผ่านทาง 25-125 บาท  

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการทางด่วนสายดังกล่าว สัมปทาน 30 ปี มูลค่าลงทุนโครงการ24,060 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,726 ล้านบาท ใช้พื้นที่เวนคืน 471 ไร่ 99 ตารางวา มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง ซึ่ง กทพ. ขอรับการอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดจากรัฐบาล และ 2.ค่าก่อสร้างและควบคุมงาน 20,333 ล้านบาท โดย กทพ. จะใช้เงินจากกองทุน Thailand Future Fund (TFF) 14,374 ล้านบาท และใช้พันธบัตร/เงินกู้ 5,960 ล้านบาท ซึ่ง กทพ. จะทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนส่วนนี้ต่อไป 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทางด่วนช่วงดังกล่าวเป็นเส้นทางตามแผนเดิม จะสิ้นสุดอยู่ที่บริเวณถนนลำลูกกา ยังไม่เชื่อมต่อกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) ของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งในส่วนที่จะเชื่อมต่อนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานอีไอเอเพื่อต่อขยายเพิ่มในส่วนปลายทางจาก ถนนลำลูกกาเชื่อมกับ MR 10 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเสนอรัฐบาลชุดหน้าพิจารณาอนุมัติได้ สำหรับในส่วนที่เพิ่มเติมนี้จะเปิดประมูลใหม่ หรือจะดำเนินการอย่างไร ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา.