เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงกรณีต้นลานในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่กำลังออกดอกสะพรั่งกว่าหมื่นต้น และกำลังจะตายนั้น ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยกรมอุทยานฯ การตรวจสอบข้อมูลจากนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช พบว่า “ต้นลาน” ที่พบในอุทยานฯ ทับลาน เป็นพืชในวงศ์ปาล์มชนิดหนึ่ง

ซึ่งเป็นชนิด “ลานป่า” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Becc. ex Lecomte โดยธรรมชาติของต้นลานจะมีอายุขัย 20-80 ปี ออกดอกและติดผลเพียงครั้งเดียวก่อนยืนต้นตาย ซึ่งเป็นพืชที่มีช่อดอกขนาดใหญ่ที่สุดของพืชในโลก สามารถติดผลได้มากหลายพันจนถึงหลักหมื่นผลต่อช่อดอกต้นหนึ่งๆ โดยเมล็ดลานมีอัตราการงอกสูงมาก เมื่อร่วงหล่นตามพื้นดินที่เหมาะสม มีช่องแสงสว่างเพียงพอ หรือมีสัตว์ป่า พวกนก ค้างคาว กวาง กินผลแล้วพาไปงอกไกลต้นแม่ ดังนั้นเมล็ดลานจากต้นแม่ 1 ต้น อาจจะงอกเป็นต้นกล้าในรุ่นถัดไปได้หลายพันกล้า ไปทั่วทั้งพื้นที่นั้นๆ

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับปรากฏการณ์ที่ต้นลานออกดอกพร้อมๆ กันนับ 1 หมื่นต้น นั้น บอกให้เราทราบว่าต้นลานเหล่านั้น เป็นพี่น้องจากต้นแม่เดียวกัน หรือจากต้นเครือญาติที่เคยออกดอกและติดผลพร้อมๆ กัน เมื่อประมาณ 60 ปีก่อนนั่นเอง เช่นเดียวกับ “ปรากฏการณ์ไผ่ทั่วทั้งป่าตายขุย” ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งนอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์บริเวณที่ต้นลานขึ้นอยู่ ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการทำให้ต้นลาน มีสภาพแคระแกร็นต้นขนาดเล็กกว่าปกติ และมีอายุที่สั้นลงด้วย บางต้นจึงออกดอกแล้วตายเร็วขึ้น เพราะทนต่อสภาพภูมิอากาศ หรือความแห้งแล้งไม่ได้ต่อไป ทั้งนี้ สาเหตุหลักการตายหมู่ของต้นลานในพื้นที่ เกิดขึ้นจากการหมดอายุขัยและลักษณะการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของต้นลานเอง ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์ช่วงปีเอลนิโญ ที่แห้งแล้งผิดปกติ ทำให้ต้นลานที่มีอายุมากใกล้หมดอายุขัยและไม่สมบูรณ์ เร่งการออกดอกมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงควรเก็บเมล็ดของต้นลาน มาเพาะต้นกล้าหรือนำเมล็ดบางส่วนเข้าไปหว่านในป่าที่ต้นลานเคยขึ้นอยู่ให้กระจายออกไปไกลจากต้นแม่เก่า เพื่อช่วยลดการตายจากต้นกล้าที่ขึ้นเบียดเสียดกันมากเกินไปที่ใต้ต้นแม่ นอกจากนี้ ทุกปีที่มีต้นลานติดผล ควรจะช่วยกระจายเมล็ดให้ไกลออกไปจากต้นแม่เดิม ให้ไปขึ้นผสมกับหมู่ต้นลานครอบครัวอื่นๆ เพื่อลดโอกาสการผสมพันธุ์แบบพันธุกรรมใกล้ชิด และป้องกันการยืนต้นตายหมู่เป็นผืนใหญ่ต่อเนื่องกัน

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับป่าลาน ที่อุทยานฯ ทับลาน สภาพจะเป็นป่าโปร่ง มีลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ ป่าลานนี้มีเนื้อที่ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้าน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี บริเวณป่าลานนับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ต้นลานเป็นต้นไม้โบราณ ที่มีประโยชน์หลายอย่าง ในอดีตใบลานจะถูกนำมาใช้ในการเขียนบันทึกต่างๆ รวมทั้งเขียนเป็นคัมภีร์ และใช้ทำเป็นเครื่องจักสาน

ส่วนเมล็ดลานก่อนหน้านี้จะนำมาทำเป็นขนมหวาน เรียกว่า แต่ภายหลังเลิกใช้เปลี่ยนไปใช้ลูกจากแทน นอกจากนี้ต้นลานยังมีประโยชน์ในระบบนิเวศแสดงถึงความสมบูรณ์ของป่าอีกด้วย ดังนั้นการที่ดอกลานออกดอกมากในปีนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้เรียนรู้ และร่วมกันอนุรักษ์ต่อไป สำหรับนักท่องเที่ยว หรือประชาชนที่สนใจอยากจะเข้ามาดูดอกลานบานในปีนี้ สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอดเวลา โดยในระยะช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะเป็นช่วงที่ดอกลานบานอย่างเต็มที่และมองเห็นได้ง่ายตลอดริมข้างทาง