เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนใบแจ้งหรือใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก ซอยสุขุมวิท 21 ทุกใบ เนื่องจากไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว เป็นหน้าที่ของ กทม. ที่จะต้องปฏิบัติและออกคำสั่งบังคับให้เป็นไปคำพิพากษาของศาล ตามกฎหมายโดยเคร่งครัดโดยเร็ว

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อรับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าการแจ้งการก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 39 ทวิ และตามมาตรา 39 ตรี กทม. ต้องมีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงไปยังผู้แจ้งหรือผู้ขออนุญาตให้รีบแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน และหลังจากนั้น กทม. ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือบุคคลใดเข้าไปใช้อาคารดังกล่าว และจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้า, ใช้อาคารไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณดังกล่าว ตามมาตรา 40 โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากมีความเป็นไปได้ว่าข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น สามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้า-ออกอาคารให้เป็นไปตามกฎหมายหรือให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วันในกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่มีเหตุผลเพียงพอ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้ แต่ก็ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจนไม่ยาวนานจนเกินไป ซึ่งก็น่าจะไม่เกิน 45 วัน

ทั้งนี้ หากบริษัทเจ้าของโครงการดังกล่าว ไม่สามารถจัดซื้อจัดหาที่ดินเป็นทางเข้า-ออกอาคารกว้าง 12 เมตรขึ้นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้ กทม. ต้องดำเนินการตามมาตรา 42 โดยเคร่งครัด คือ ต้องออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงานหรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมด หรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยให้ดำเนินการรื้อถอนตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 (11) หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10

ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 มีกรอบการทำงานให้ กทม. ต้องปฏิบัติไว้ชัดเจนแล้ว กทม. จะทำตัวเป็นพ่อพระใจดี ปล่อยให้อาคารดังกล่าวใช้ประโยชน์ต่อไปโดยไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน โดยไม่ออกคำสั่งใด ๆ ตามขั้นตอน วิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ อย่าลืมว่า กทม. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐอิสระ หากแต่ยังมีองค์กรหรือหน่วยงานตรวจสอบ กทม. อยู่ คือ ป.ป.ช. และหรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด