ความคืบหน้าไม้พะยูงของกลาง มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ที่ถูกคนร้ายลักลอบตัดจากพื้นที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ จ.กาฬสินธุ์ โดยขนย้ายท่อนไม้ไปจำนวนหนึ่ง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ร่วมกับนายกเทศบาลตำบลอิตื้อ พนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีมติให้นำไม้พะยูงส่วนที่เหลือ 6 ท่อน ไปเก็บไว้หน้าเสาธงบริเวณสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ก่อนที่จะหายไปไร้ร่องรอย ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.ห้วยเม็ก เข้าแจ้งเบาะแส นำสู่การนำตัวคนขับรถเครนเข้าสอบปากคำ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โนนสูง ได้กันตัวไว้เป็นพยาน ขณะที่ชาวบ้านหันพึ่งไสยศาสตร์ ปลุกอาถรรพ์ผีป่าสาปแช่งให้คนร้ายมีอันเป็นไป ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ส.ค. มีรายงานแจ้งว่า ทางผู้บริหารตำบลอิตื้อ โดยเทศบาลตำบลและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ฯ จัดเวรยามอยู่เฝ้าบริเวณศูนย์เพาะชำกล้าไม้ฯ เพื่อป้องกันเหตุคนร้ายที่อาจจะย่ามใจย้อนกลับมาก่อเหตุลักลอบตัดไม้พะยูงซ้ำอีก โดยเวรยามที่จะอยู่เฝ้าคืนละ 5 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมาเป็นเวรยามโดยสมัครใจ

นายวิยูร เห็มกุล อายุ 66 ปี ชาวบ้านหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในชาวบ้านที่มาเป็นเวรยาม กล่าวว่า ถึงแม้การมาอยู่เป็นเวรยามครั้งนี้ จะเข้าข่ายวัวหายล้อมคอก แต่หากคนร้ายจะมาลักลอบตัดไม้จริงๆ ก็คงจะป้องกันคนร้ายไม่ได้ เพราะเท่าที่ทราบกลุ่มคนพวกนี้จะเป็นชายฉกรรจ์มากันหลายคน ซึ่งแน่นอนว่าจะมีอาวุธปืน อย่างไรก็ตาม การมาเข้าเวรยาม ในช่วงหลังเกิดเหตุลักลอบตัดไม้ ถึงแม้จะมีหลายคนคิดว่า คนร้ายคงไม่ย้อนกลับมาก่อเหตุที่เดิมซ้ำอีกในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ยังจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และเพื่อความไม่ประมาทอีกด้วย

นายวิยูร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ ต.อิตื้อ นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจ และเย้ยกฎหมาย เพราะเป็นการก่อเหตุซ้ำซ้อนในพื้นที่เดียวกัน โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้ คือเมื่อประมาณเดือน ม.ค. 66 ที่ผ่านมา เคยมีคนร้ายลักลอบเข้าไปตัดไม้พะยูง 2 ต้น ภายในโรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ ซึ่งอยู่ติดถนนใหญ่และอยู่กลางชุมชน เป็นที่น่าสงสัยว่าการตัดไม้พะยูงครั้งนั้น จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ คนร้ายไม่ได้ตัดทอนเป็นท่อนและไม่ได้ขนย้ายไม้ส่วนใดไป ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาตรวจเหตุ จากนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายธนารักษ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและทางโรงเรียน บริหารจัดการไม้กันเอง ทราบภายหลังว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาและประมูลไม้พะยูง ซึ่งชาวบ้านไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ขณะที่ตนทราบแค่ว่ามีการประมูลขายไม้พะยูงไปแล้ว แต่เหลือไว้ 1 ท่อน

นายวิยูร กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดเหตุไม้พะยูงศูนย์เพาะชำกล้าไม้ฯ ถูกคนร้ายลักลอบตัด ในคืนวันที่ 25 ก.ค. 66 และต่อมาวันที่ 26 ก.ค. 66 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีมติให้ขนย้ายไม้พะยูงจำนวน 6 ท่อน ซึ่งเป็นทรัพย์ของธนารักษ์มากองไว้หน้าเสาธง บริเวณสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ และตนได้ทราบว่า ยังได้มีการนำไม้พะยูงอีก 1 ท่อนมาจากโรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว มากองรวมกันเป็น 7 ท่อนด้วย ทั้งนี้ ชาวบ้านรับรู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นความเห็นของผู้บริหารระดับตำบล ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อ “เป็นพิพิธภัณฑ์ไม้พะยูง” ให้ลูกหลานดู โดยมีการจัดเวรยามอยู่เฝ้าตั้งแต่คืนวันที่ 26 ก.ค. 66 จนถึงคืนวันที่ 5 ส.ค. 66 ที่ไม้พะยูงถูกขนย้ายไป แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีใครออกมาชี้แจงต่อสังคมว่า ทำไมจึงขายไม้ ใครเป็นคนอนุมัติให้ขาย และขายไม้ให้ใคร ที่พูดๆ กันคือขายไม้พะยูงศูนย์เพาะชำกล้าไม้ฯ 6 ท่อน และไม้โรงเรียนที่นำมาฝากขาย 1 ท่อน โดย “ขายให้นาย” ในราคา 290,000 บาท

อย่างไรก็ตาม จากกรณีเหตุลักลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว ดังกล่าว มีรายงานว่าถูกตัด 2 ต้น จำนวน 17 ท่อน รวมทั้งกรณีไม้ของกลางหาย หรือขายไม้พะยูงอย่างมีเงื่อนงำอำพรางในเขต ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ออกหมายจับผู้ใด ทั้งๆ ที่หลักฐาน พยานบุคคล ที่เชื่อมโยงถึงผู้เกี่ยวข้องค่อนข้างชัดเจน จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างว่าคดีอาจจะพลิก เป็นมวยล้ม ขณะที่ชาวบ้านเชื่อว่าทำเป็นขบวนการ และเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง วอนตำรวจเร่งสางคดีจับขบวนการค้าไม้เข้าคุก พร้อมวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลใจคนร้ายมามอบตัว และเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับคนร้ายได้ในเร็ววัน เพื่อชาวบ้านจะได้ไม่ต้องหวาดระแวงอันตราย จากการมาอยู่เวรเฝ้าป่าไม้พะยูงที่ยังเหลืออยู่.