เมื่อวันที่ 15 ส.ค. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., ฃ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.นิคม ชัยเจริญ ผกก.3 บก.สอท.3 พ.ต.ท.ไพรวัลย์ อายุวงษ์ รอง ผกก.3 บก.สอท.3 แถลงข่าว ปฏิบัติการ “ล่าลวงหลอก” ขุดรากถอนโคนขบวนการ Call Center ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จับกุมผู้ต้องหา 9 ราย กลุ่มกดเงิน คือ น.ส.พลอยมณี มโนเรืองอายุ 20 ปี ,นายอาโล ยาแปกู่ อายุ 22 ปี ,น.ส. ธิติกานต์ ยาแปกู่ อายุ 20 ปี ,น.ส.อรดี คำปัน อายุ 19 ปี และกลุ่มผู้รับจ้างเป็นบัญชีม้า คือน.ส.พิมานมาศ สุขขาว อายุ 20 ปี ,นายพนมวัน โม้ลีย์ อายุ 19 ปี นายวีรชัย แปะดำ อายุ 20 ปี,น.ส.ศิริพร ใจบุญมา อายุ 28 ปี และนายธนพล แซ่เซิ้ง อายุ 38 ปี พร้อมยึดของกลาง เงินสด1,058,620 บาท,รถยนต์จำนวน 2 คัน มูลค่า 3.2 ล้าน รถจยย.1 คัน,คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง ,โทรศัพท์17 เครื่อง ,สมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม โดยสามารถอายัดเงินในบัญชีได้รวม 1,500,000 บาท และของกลางอื่นๆอีกกว่า 130 รายการ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

พล.ต.ต.สถิตย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1-4 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายถูกขบวนการคอลเซ็นเตอร์ อ้างตัวเป็นพนักงานส่งพัสดุเอกชนเคอร์รี่ ระบุมีสิ่งของในพัสดุที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด โดยพัสดุดังกล่าวถูกส่งจากต้นทางจังหวัดตาก และปลายทางจังหวัดอุบลราชธานี โดยปรากฏชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ส่งพัสดุ จากนั้นคนร้ายจึงแจ้งให้ผู้เสียหายติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยให้วิดีโอคอลคุยกับปลายสายซึ่งอ้างตัวเป็นผกก.สภ.เมืองตาก หลอกสอบถามข้อมูลส่วนตัวและเงินในบัญชีของผู้เสียหาย รวมถึงพูดจาหว่านล้อมให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ามีการกระทำความผิดจริง โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อเป็นการตรวจสอบ รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เป็นจำนวนเงินกว่า 2,839,298.45 บาท ภายหลังผู้เสียหายเชื่อว่าถูกคนร้ายหลอกให้โอนเงิน จึงแจ้งความร้องทุกข์ได้ทำการสืบสวนแกะรอยเส้นทางการเงินพบมีการกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม บริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายค้นและหมายจับ ผู้ทำหน้าที่กดเงินสด รวมถึงผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า จำนวนกว่า 15 ราย ก่อนทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดได้

ขบวนการนี้มีการแบ่งงานกันทำ โดยมีกลุ่มควบคุมบัญชีและทำหน้าที่กดเงินสด และกลุ่มผู้รับจ้างเป็นบัญชีม้าโดยมีน.ส.พลอยมณี เป็นหัวหน้าขบวนการทำหน้าที่ในการคุมลูกน้องไปกดเงิน โดยยอดเงินมากที่สุดที่ขบวนการนี้กดเงินวันละ 10 ล้าน ซึ่งตั้งแต่ตั้งปลายปี 2565 จนถึงปัจจุบันมียอดหมุนเวียน 200 -300 ล้านบาท

เบื้องต้นนำของกลางดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน” โดยขั้นตอนจากนี้จะติดตามผู้เสียหาย พร้อมไล่ล่ายึดทรัพย์เพื่อส่งคืนทรัพย์แก่ผู้เสียหายต่อไป.