ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) แจ้งว่า ได้ดำเนินโครงการซ่อมฟื้นฟูทางหลวงชนบท อันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติ ถนนทางหลวงชนบทสาย อย.6057 บ้านรอซีดี-บ้านม้า อ.ลาดบัวหลวง และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วง กม.3+500-12+000 ระยะทาง 8.5 กิโลเมตร (กม.) งบประมาณ 90.950 ล้านบาท เสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรเรียบร้อยแล้ว

โดยซ่อมสร้างเป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลติกคอนกรีต 2 ช่องจราจรไป-กลับ ผิวจราจรกว้าง 6 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 0-1 เมตร พร้อมก่อสร้างรางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดโครงการ พร้อมป้ายอำนวยความปลอดภัย แก้ไขท่อสูบน้ำทางการเกษตรและบ่อพัก

สำหรับถนนสาย อย.6057 เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่าง อ.ลาดบัวหลวง ถึง อ.บางไทร อยู่ระหว่าง ทล.340 กับ ทล.3111 และเป็นถนนแนวคันกั้นน้ำเหนือ-ใต้ เลียบคลองพระยาบันลือฝั่งตะวันออก ป้องกันน้ำเหนือช่วงฤดูฝนไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่เศรษฐกิจ อ.ลาดหลุมแก้ว และ อ.เมืองปทุมธานี ข้างทางด้านริมคลองเป็นแนวกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนว โดยด้านริมทางมีสถานที่ราชการหลายแห่ง อาทิ มัสยิด โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายตำบล ตลอดจนเป็นเส้นทางขนส่งพืชผลทางการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ถนนได้รับความเสียหายตามอายุการใช้งานและทรุดตัวเป็นช่วง ๆ ส่งผลให้ท่อสูบน้ำทางการเกษตรของประชาชนได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการซ่อมฟื้นฟูทางหลวงชนบท อันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อีก 4 สายทาง ระยะทางรวม 18.022 กม. งบประมาณรวม 230.625 ล้านบาท ได้แก่ 1.ถนนทางหลวงชนบทสาย อย.3049 แยก ทล.340-บ้านบางตาเถร อ.ลาดบัวหลวง ระยะทาง 8.5 กม. งบประมาณ 77.875 ล้านบาท 2.ถนนทางหลวงชนบทสาย อย.5034 แยกทางหลวงชนบทสาย อย.3006-บ้านดอนทอง อ.ลาดบัวหลวง และ อ.เสนา 3.295 กม. งบประมาณ 60.9 ล้านบาท 3.ถนนทางหลวงชนบทสาย อย.4038 แยก ทล.3412-บ้านสวนถั่ว อ.บางบาล และ อ.เสนา 5.577 กม. งบประมาณ 46.880 ล้านบาท และ 4.ถนนทางหลวงชนบทสาย อย.4044 แยก ทล.3454-บ้านเจ้าเจ็ด อ.เสนา 0.650 กม. งบประมาณ 44.970 ล้านบาท

ดังนั้นเมื่อเส้นทางดังกล่าวฟื้นฟูแล้วเสร็จ จะทำให้เพิ่มโครงการในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา รวมเป็น 5 สายทาง 26.522 กม. งบประมาณ 321.575 ล้านบาท ช่วยยกระดับมาตรฐานทาง สร้างความมั่นใจในการสัญจรให้กับประชาชน รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงถนนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางให้ประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวก ปลอดภัย