เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายชาญชัย โสภาศรีพันธ์ เจ้าของ บริษัท โรงสีข้าวสุพรรณรุ่งโรจน์ จำกัด ต.สวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยถึงราคาข้าวเปลือก ว่า ในภาพรวมตั้งแต่ประเทศอินเดีย ระงับการส่งออก ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวสดจากตันละ 10,000 บาท ขึ้นมา 12,000 บาท ก่อนหน้า ข้าวสารกิโลกรัมละ 17 บาท และขึ้นมาเรื่อย 18-19 จนไปถึง 22 บาท ขณะนี้ลดลงมาเหลือ 20 บาท สาเหตุหลักเนื่องจากอินเดียระงับการส่งออก เกิดเอลนีโญไปทั่วโลก ในส่วนของโรงสีซื้อข้าวเปลือก ตามท่าข้าวตามตลาดกลาง ขณะนี้ข้าวสดที่มีความชื้น 25 เปอร์เซ็นต์ ซื้ออยู่ที่ 11,200-11,300 บาท ผู้ประกอบการโรงสี ต้องแบกรับต้นทุนที่แพงขึ้น ต้องใช้เงินทุนที่สูงซื้อ เนื่องจากราคาข้าวเปลือกราคาสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวนาดีใจเร่งทำนา บางรายหว่านข้าวไปแล้ว ฝนก็กลับมาแล้ง น้ำเริ่มขาด ข้าวที่หว่านเกรงว่าจะยืนต้นตาย อยากให้รัฐบาลนำฝนหลวงมาช่วยชาวนา ปีนี้ราคาข้าวขึ้นไวเกินคาด อยากให้รัฐเร่งมือช่วยเรื่องน้ำ

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของชาวนาตั้งปี 51 เป็นต้นมา ปีนี้ราคาข้าวสูงเป็นประวัติการณ์ ชาวนาได้ออกรถป้ายแดงแน่ เนื่องจากปุ๋ยลงลูกละ 600-700 บาท แตกต่างจากปีที่แล้ว ลูกละ 1,500-1,600 บาท ชาวนาลืมตาอ้าปากได้แน่นอน ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ประกอบการโรงสีก็อยู่ได้ ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมาย

นายธนวันต์ จันทวงศ์ ชาวนา ต.ดอนกำยาน อ.เมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่า ตนทำนาอยู่ 60 ไร่ เป็นที่นาของตน 20 ไร่ เช่าทำ 40 ไร่ ปีนี้ถือว่าราคาข้าวดี และราคาปุ๋ยลง ราคาข้าวขึ้นพอดี เมื่อหักต้นทุนทั้งหมดแล้วเหลือเกินครึ่ง ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ แต่ที่เป็นห่วงคือกลัวปีหน้าจะแล้งไม่มีน้ำปลูกข้าว

ด้านนายเทพทัต ธัญญเจริญ อายุ 42 ปี ชาวนา ต.หนองหญ้าไซ อ.หนองหญ้าไซ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาประสบปัญหาเรื่องน้ำในการทำนา แห้งแล้งมาก และตามที่รัฐได้ประกาศให้ชาวนาหว่านแห้ง ขณะนี้ข้าวเริ่มงอกขึ้นมาแล้ว แต่ไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยง ทำให้ข้าวเริ่มตาย ใบแห้ง ต้องเริ่มปลูกกันใหม่ ถ้ารัฐบาลช่วยทำฝนเทียม ข้าวในนาขณะนี้ ก็มีหวังรอด 90-100% วอนให้รัฐช่วยเร่งเรื่องน้ำ หรือในพื้นที่ชลประทาน เร่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ทันท่วงที ชาวนาเงียบเหงามาหลายปี ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เกษตรกรก็หวังเงินจากภาครัฐช่วยประทังไปได้บ้าง.