จากกรณีปัญหาการตัดไม้พะยูงภายในจังหวัดกาฬสินธุ์หลายกรณี ทั้งการพบไม้ของกลางหายไป 7 ท่อน จากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ รวมถึงมีการตัดไม้พะยูงหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการเปิดให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดเพียง 153,000 บาท อีกทั้งในเวลาต่อมา นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ ยืนยันว่า ธนารักษ์จังหวัดกาฬสินธุ์รายงานทางวาจา โดยทางธนารักษ์พื้นที่ ยืนยันว่าไม่ได้มีการอนุญาตให้โรงเรียนคำไฮวิทยา เปิดให้ตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนตามที่เป็นกระแสข่าวแต่อย่างใด นั้น

เผือกร้อนปมฉาว ‘ไม้พะยูง’ กาฬสินธุ์ ‘ธนารักษ์’ ยันไม่ได้อนุญาตให้ตัด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ทำสัญญาขายไม้พะยูงกับพ่อค้า โดยจัดให้มีการประเมินราคาขาย 22 ต้น 2 ตอ ต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่ง นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้กำชับให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ ทีมข่าวได้รับคำยืนยันจากฝ่ายความมั่นคง ระบุ เลขาฯ สพฐ. สั่งการให้ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 แจงข้อเท็จจริง ปมตัดไม้พะยูงในโรงเรียน หลังสังคมจับตาความเหมาะสม และความผิดปกติในราคาประเมิน รวมทั้งกรณี อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้ข่าวปฏิเสธว่า ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ปฏิเสธว่าไม่เคยอนุญาตให้ โรงเรียนคำไฮวิทยาตัดไม้พะยูงเพื่อหาเงินเข้าแผ่นดิน โดยรายงานระบุว่า คำตอบของอธิบดีกรมธนารักษ์นั้น สวนทางกับเอกสารของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่อนุญาตให้ขายไม้พะยูง

โดยปรากฏมีเอกสารที่โต้ตอบ ระหว่าง ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 จ.กาฬสินธุ์ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2566 เป็นหนังสื่อโต้ตอบระหว่าง สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่ส่งตอบไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 จ.กาฬสินธุ์ เนื้อหาอ้างถึง หนังสือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ที่ ศธ 04023/1738 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

ใจความว่า ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 แจ้งความประสงค์ ขอการดำเนินการจำหน่ายไม้พะยูง จำนวน 22 ต้น ตอไม้ จำนวน 2 ตอ ของโรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ โดยวิธีขายทอดตลาด เพื่อนำเงินเป็นรายได้แผ่นดินในนามกรมธนารักษ์ นั้น สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ พิจารณาเห็นว่าผู้ใช้ที่ราชพัสดุสามารถดำเนินการได้ตามนัยข้อ 14 แห่งกฎกระทรวงการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563 และควรตัดเท่าที่จำเป็นตามนัยหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 0305/ว20 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560

สำหรับไม้ที่ได้จากการตัด ให้จำหน่ายโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน เพื่อพิจารณาจำหน่ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่จะทำการรื้อถอน วัสดุที่รื้อถอนแล้ว หรือจำหน่ายต้นไม้ ดิน หรือวัสดุอื่นๆ ที่ได้มาจากที่ราชพัสดุตามนัยข้อ 21 และข้อ 22 แห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา และการใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2546 จะต้องมีผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว 1 ท่าน ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อประเมินราคาไม้ดังกล่าว มีการลงชื่อเป็นเซ็นเอกสารเป็นทางการ

ขณะที่ นายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจวัดปริมาตรไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา เพื่อเทียบเคียงราคาระหว่างกรรมการประเมินก่อนตัดขาย กับการประเมินของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตามเกณฑ์ที่กรมป่าไม้กำหนด ซึ่งเป็นการวัดปริมาตรไม้หลังตัดขายไปแล้ว 17 ต้น และคงเหลือ 5 ต้น กับ 2 ตอ ซึ่งผลออกมาว่าพบว่ามีความแตกต่างกันมาก โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประเมินได้ราคา 4,500,000 บาท ขณะที่ทางโรงเรียนขายให้กับพ่อค้าที่มาซื้อไม้ ปรากฏตัวเลขจ่ายตามใบเสร็จเพียง 153,000 บาท ซึ่งหลังจากประเมินพบราคาแตกต่างดังกล่าว จะได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน หากพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องการเป็นข้อมูลประกอบคดีต่อไป.