น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานเสวนา “ข้ามรุ่น อนาคตประเทศไทย” จัดโดย สศช. ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งประเทศไทย (ยูเอ็นเอฟพีเอ) ว่า ก่อนหน้านี้มีการนำเสนอรูปแบบการออมสำหรับผู้สูงอายุหลายรูปแบบ โดยรูปแบบหนึ่งที่มีการเสนอผ่านคณะกรรมการปฏิรูปสังคม และ สศช. เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีคือการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต (VAT) 10% เป็นการเพิ่มจากเดิม 7% เป็น 10% โดยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอีก 3% รัฐบาลอาจออกกฎหมายเฉพาะมาเพื่อนำเงินที่รัฐเก็บภาษีในส่วนนี้มาเป็นเงินออมของประชาชนเพื่อใช้ในวัยเกษียณซึ่งจะทำให้ประชาชนไทยมีเงินออมไว้ใช้สำหรับการเกษียณอายุ 
 
“ปกติการขึ้นภาษีนั้นเป็นสิ่งที่จะมีคนไม่เห็นด้วยและคัดค้าน แต่ถ้าบอกว่าภาษีที่ปรับขึ้น เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาอีก 3% จาก 7 เป็น 10% ตามที่กฎหมายให้เพดานไว้ แล้วเอาภาษีที่ปรับขึ้นมาสำหรับทำระบบเงินออมให้กับประชาชนเพื่อให้มีเงินใช้ในวัยเกษียณก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดี และคาดว่าหากทำความเข้าใจกับประชาชนว่าภาษีที่ขึ้นในส่วนนี้จะเป็นเงินออมในวัยเกษียณประชาชนจะยอมรับ เพราะทำให้ประชาชนมีหลักประกันในวัยเกษียณ และภาครัฐก็มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจนว่าจะเอาเงินในส่วนไหนมาจัดสวัสดิการให้ประชาชนสูงอายุ ที่มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”  
 
สำหรับประเด็นเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของประเทศที่มีการถกเถียงกันมากเรื่องการพิสูจน์สิทธิความจนและรายได้ของผู้สูงอายุว่าจำเป็นหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้ต้องมีการหารือกันทุกฝ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะในขณะนี้มีข้อถกเถียงกันมากว่าจะใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นตัววัด เช่น รายได้ครอบครัว หรือเส้นความยากจน ซึ่งตัวชี้วัดต่างๆ ก็ต้องมาดูว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ และต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร ซึ่งมีคณะอนุกรรมการอีกหลายคณะที่จะเอาข้อมูลมาถกเถียงกัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันให้ได้ข้อสรุป ก่อนที่จะมีการประกาศออกไป เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน ซึ่งคงต้องรอให้มีการหารือเรื่องนี้ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติให้ได้ข้อยุติอีกครั้ง 
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจรายได้ผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุของไทยจำนวนมาก มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายและรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน โดยพบว่า 34% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่เข้าอยู่วัยเกษียณแล้วของประเทศไทย ยังคงทำงานอยู่ แต่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยผู้สูงอายุกว่า 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี ทำให้ยังต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น ซึ่งแหล่งรายได้ในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจากการทำงาน 32.4% เงินจากบุตร 32.2% และเบี้ยยังชีพ 19.2% ขณะที่ผู้สูงอายประมาณ 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท ซึ่งเรื่องการออมสำหรับวัยสูงอายุให้มีรายได้สำหรับการใช้จ่ายถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ต้องมีการวางแผนรองรับ 
 
นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันถือเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มที่จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นโดยในปี 66 โดยมีผู้สูงอายุประมาณ 13.5 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 76 จะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด โดยมีผู้สูงอายุประมาณ 18.38 ล้านคน หรือประมาณ 28% ของประชากรทั้งหมด จากนั้นในปี 83 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20.51 ล้านคน หรือคิดเป็น 31.37% ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่าประชากรสูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ