เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตรวจสอบรายชื่อและคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่า ได้รับรายงานว่าไม่มีใครมีปัญหา แต่กำลังขอหลักฐานยืนยันมาให้ชัดเจนเท่านั้น ซึ่งหลักฐานบางอย่างอยู่ที่เจ้าตัวหรืออยู่ที่หน่วยงาน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยว่าที่รัฐมนตรีจะต้องกรอกประวัติแล้วเซ็นชื่อรับรองว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้ประพฤติบกพร่องในทางศีลธรรม อะไรอย่างนี้ก็ต้องวางใจ ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยว่าบกพร่องทางคุณธรรมและจริยธรรมหรือไม่นั้น มันไม่มีหน่วยงานไหนให้ตรวจสอบได้ เป็นนามธรรม วัดอะไรก็ไม่ได้ แต่เมื่อเจ้าตัวเซ็นรับรองแล้ว หลังจากนั้นหากใครคิดว่ามีปัญหาอะไร ก็ยื่นถอดถอนกันได้  

เมื่อถามว่าถ้าตรวจสอบคุณสมบัติแล้วไปพบปัญหาในภายหลัง ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เจ้าตัวต้องรับผิดชอบ โดยถ้าใครสงสัย ก็ไปยื่นร้องเรียนตามช่องทางและขั้นตอนที่มี ต่อข้อถามว่ากระบวนการจะล่าช้าอีกหรือไม่ ถ้าต้องรอเอกสารตรงนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าไม่ช้า เมื่อถามว่าจะสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันนี้ (1 ก.ย.) หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะมาดูแลงานด้านกฎหมายให้รัฐบาล ว่า ในอดีต ไม่เคยบอกว่าจะต้องมีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบฝ่ายกฎหมาย โดยงานกระจัดกระจายกันไป เกี่ยวพันกับกระทรวงไหน กระทรวงนั้นก็ดูแลไป แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะช่วยดูให้ ซึ่งสมัยที่ตนเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย โดยเขาใช้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ตนเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ช่วยดูด้วย ขณะที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ก็ดูได้ แต่ระยะหลังๆ มางานมากขึ้น คงคิดกันว่าถ้าทุกกระทรวงมีปัญหาแล้วต่างคนต่างคิด ซึ่งระบบราชการไทย อย่างที่ใครต่อใครเรียกตนว่าเนติบริกร พูดก็พูด ก็เป็นเช่นนั้นแหละ แต่งานที่ตนให้บริการ ครม. หรือนายกรัฐมนตรี กลับมีน้อยกว่าที่ตนให้บริการกระทรวงหรือกรมต่างๆ งานพวกนี้อยู่ข้างล่างอาจจะไม่เคยเห็นกัน แต่สำหรับตน คนนั้นคนนี้ที่ต้องมาประชุมกัน กรมนั้นกรมนี้ขัดกระทรวงกัน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ขัดแย้งกัน จึงต้องมีใครมาช่วยดูในภาพรวม จึงได้เกิดรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลฝ่ายกฎหมาย ทั้งนี้ในรัฐบาลหน้า ถ้าโฉมหน้าเป็นไปอย่างที่หนังสือพิมพ์ลง ตนคิดว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็สามารถดูกฎหมายได้

เมื่อถามว่าภาพลักษณ์หรือประวัติของรัฐมนตรีจะกระทบกับการทำงานของฝ่ายข้าราชการในเรื่องความน่าเชื่อถือหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตรงนี้ขอไม่วิจารณ์ สำหรับงานกฎหมายของรัฐบาลนั้น มีอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สลค. และ สปน. รวมถึงมีส่วนที่อยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประสานขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าเป็นกรณีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นการแบ่งกันทำอย่างนี้

เมื่อถามว่านายวิษณุ มีคำแนะนำอะไรในงานด้านกฎหมายให้กับรัฐมนตรีที่จะมารับผิดชอบหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี