เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ นายอัษฏาวุธ ศรีปิตา ผู้ช่วยโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวในกรณีดีเอสไอเปิดปฏิบัติการตรวจค้นและจับกุมขบวนการคดีอุ้มบุญ

นายอัษฏาวุธ ศรีปิตา ผู้ช่วยโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กรณีขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในจังหวัดหนองคาย กรณีเด็กชายแทนไท (นามสมมุติ) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 236/2565 สนธิกำลังร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติการตรวจค้นสถานพยาบาล 3 แห่ง ตามหมายค้นศาลอาญาที่ 995-997/2566 ลงวันที่ 22 ส.ค.66 ประกอบด้วย จุดที่ 1 รพ.ย่านถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ จุดที่ 2 คลินิกย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ กรุงเทพฯ และจุดที่ 3 คลินิกย่านถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี กรุงเทพฯ

พบว่า จุดที่ 1 สถานพยาบาลย่านถนนงามวงศ์วาน มีนายแพทย์ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ และเป็นแพทย์ประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในสถานพยาบาลดังกล่าว โดยได้ทำการตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์และรับฝากครรภ์และยังเป็นสถานที่คลอดบุตรแก่หญิงอุ้มบุญผิดกฎหมาย ในช่วงระหว่างปี 2561 – 2563 อีกทั้งจากผลการตรวจค้นพบประวัติหญิงอุ้มบุญผิดกฎหมายจำนวนหลายราย ส่วนจุดที่ 2 สถานพยาบาลย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พบว่าสถานพยาบาลแห่งนี้มีแพทย์ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เข้าไปทำงาน Part time ในสถานพยาบาลดังกล่าว และผลการตรวจค้นพบเอกสารข้อมูลไข่และตัวอ่อนในการดูแลของแพทย์ผู้ให้บริการในคดี

และ จุดที่ 3 สถานพยาบาลย่านถนนเพลินจิต จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบความเชื่อมโยงกับนายแพทย์ที่เกี่ยวข้องในคดี และมีหญิงอุ้มบุญมาตรวจร่างกายก่อนมีการไปฉีดตัวอ่อนที่ต่างประเทศ (ประเทศเพื่อนบ้าน) อีกทั้งจากผลการตรวจค้นพบหนังสือเดินทางของหญิงอุ้มบุญและเด็กที่ถูกอุ้มบุญและยังไม่ได้รับอนุญาตรับรองมาตรฐานให้บริการด้านเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

ต่อมาวันที่ 28 ส.ค. ดีเอสไอร่วมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษภูธรจังหวัดหนองคาย เข้าจับกุมนายสุเนตร (สงวนนามสกุล) อายุ 60 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ในข้อหา มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ขณะที่ น.ส.นริศรา (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี ภรรยานายสุเนตร และนายพิเชษฐ์ (สงวนนามสกุล) อยู่ระหว่างการหลบหนีที่ประเทศเพื่อนบ้าน จากการตรวจค้นบ้านพักของนายสุเนตรในจ.หนองคาย พบบัญชีรายชื่อหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายและบัญชีรายได้จากการเป็นนายหน้าจัดหาหญิงมาทำหน้าที่อุ้มบุญ ซึ่งนายสุเนตร เป็นหนึ่งในขบวนการจ้างอุ้มบุญข้ามชาติที่มีหน้าที่จัดหาหญิงชาวไทยมารับจ้างอุ้มบุญให้ชาวต่างชาติ จนมีฐานะร่ำรวยมีทรัพย์สินเป็นที่ดินกว่า 100 ไร่

สำหรับพฤติการณ์ของขบวนการนี้จะมีนายหน้าทำหน้าที่จัดหาผู้หญิงไทยที่จะมาทำหน้าที่รับอุ้มบุญ ก่อนนำเข้ากระบวนการตรวจร่างกาย และเข้าขั้นตอนการฉีดฝังตัวอ่อนซึ่งจะมีการพาไปฉีดในประเทศเพื่อนบ้าน และเมื่อพบว่าไข่ติดสมบูรณ์ จึงจะพากลับมาเข้าสู่การอุ้มท้องระยะเวลา 9 เดือนที่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากคำให้การของพยานที่เป็นผู้รับอุ้มบุญพบว่าสถานพยาบาลที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็อยู่ในสภาพที่มีอุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยและมีทีมแพทย์รอรับอยู่ และไม่ใช่การเดินทางไปพร้อมทีมแพทย์จากไทย ครบกำหนดก็คลอดในสถานพยาบาล (ในประเทศไทย) ที่อยู่ในขบวนการ และเมื่อคลอดแล้วก็ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนของหญิงที่รับอุ้มบุญ

โดยเด็กจะถูกส่งไปยังเครือข่ายในขบวนการที่จะเข้าขั้นตอนการเลี้ยงดูเด็กและการรับจดสูจิบัตรของตัวเด็ก และนำเข้าสู่ขั้นตอนการพาเด็กออกนอกประเทศไปส่งยังพ่อแม่ที่มีการว่าจ้าง ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันโดยมีตั้งแต่ขั้นตอนการอุ้มท้อง จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 500,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดรวมถึงการว่าจ้างหญิงที่เข้ามาทำการอุ้มบุญ และเมื่อเด็กคลอดแล้วก็จะมีค่าเลี้ยงดูเฉลี่ยเดือนละ 1-2 หมื่นบาท แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาวิกฤติโควิด-19 ทำให้เด็กติดค้างไม่สามารถส่งออกได้อยู่ประมาณ 7 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามหาตัวเด็ก เบื้องต้นตรวจพบแล้ว 4 ราย และอยู่ระหว่างการขยายผลอีก 3 ราย

สำหรับนายหน้าที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับเด็กทั้ง 7 ราย ในวันนี้พบว่านอกจากนายสุเนตรที่สามารถจับกุมตัวได้ในพื้นที่จ.หนองคาย ยังคงมีนายพิเชษฐ์ และนางนริศรา ที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าและรับจดสูจิบัตรเป็นพ่อและแม่เด็ก โดยเด็กจะถูกนำเอาไปพักไว้ในพื้นที่ภาคอีสานส่วนใหญ่ แต่ก็มีในพื้นที่กรุงเทพฯ บ้างบางส่วน แต่หลังจากที่มีการลงพื้นที่ขยายผลกวาดล้างจับกุม ทราบว่าขณะนี้มีการพยายามย้ายสถานที่เก็บตัวเด็กและเปลี่ยนพี่เลี้ยงเพื่อป้องกันความผูกพันของตัวพี่เลี้ยงและเข้าให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่เพราะสงสารเด็ก

“ขณะที่การข่าวพบว่ากลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังในขบวนการนี้เป็นกลุ่มทุนธุรกิจ ยังไม่พบว่าเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ แต่จะมีการขยายผลสืบสวนอีกครั้ง และจากนี้จะมีการทำหนังสือเรียกบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการมาทำการสอบสวนในฐานะพยานก่อน ส่วนของพ่อแม่ที่ทำหน้าที่ในการจดสูจิบัตรให้กับเด็กได้มีการทำรายชื่อเฝ้าระวังไปยังหน่วยงานตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าออกประเทศเพื่อเฝ้าระวังเลขพาสปอร์ตของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ในการเคลื่อนย้ายเข้าแล้วออกประเทศ” ร.ต.อ.ทินวุฒิ ระบุ

ร.ต.อ.ทินวุฒิ ระบุอีกว่า ในส่วนจำนวนของเด็กที่เกิดจากกระบวนการนี้ เบื้องต้นจากข้อมูลที่พบคาดว่าจะมีมากกว่า 100 ราย อย่างไรก็ตาม การอุ้มบุญสามารถทำได้ หากได้รับการอนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งมีเงื่อนไขเพื่อคนที่มีบุตรยากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 แต่ห้ามไม่ให้ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า หากฝ่าฝืน ทั้งตัวคนสั่งจ้าง นายหน้า นายแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ หญิงอุ้มบุญและผู้เกี่ยวข้องในขบวนการย่อมมีความผิดทางอาญาและต้องถูกดำเนินคดี เพราะการอุ้มบุญผิดกฏหมายจะสร้างปัญหาทางสังคมอย่างมาก เด็กที่มาจากการอุ้มบุญอาจมีการนำไปสู่ขบวนการค้าอวัยวะ หรือค้าประเวณี หรือนำไปใช้ในการค้าทางเพศ แต่หากเด็กเกิดมามีความพิการ ก็จะถูกทิ้งเป็นปัญหาสังคมต่อไป.