ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงสายเลี่ยงเมืองหนองคาย (ด้านตะวันออก) ระยะทางรวม 23.402 กิโลเมตร (กม.) ในพื้นที่ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย งบประมาณรวม 2,893,839,000 บาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ตอน

ได้แก่ ตอน 1 ระยะทาง 7.275 กม. วงเงินงบประมาณ 1,544,634,300 บาท สำนักก่อสร้างสะพานอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย. 67 ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่บนทางหลวงหมายเลข 247 จุดเริ่มต้นที่ กม.0+000 ถึงจุดสิ้นสุดที่ กม.1+525 เป็นมาตรฐานชั้นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร ผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบเกาะร่อง ก่อสร้างสะพานทางแยกต่างระดับ (Interchange Bridge) และสะพานกลับรถ (U-turn Bridge) รวมทั้งทำการก่อสร้างขยายคันทางแนวเดิมจาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) บนทางหลวงหมายเลข 2 ที่ กม.502+000 สิ้นสุดที่ กม.507+750 และขยายคันทางคู่ขนาน

ส่วนตอน 2 ระยะทาง 11.600 กม. และตอน 3 ระยะทาง 4.527 กม. ทั้ง 2 ตอน มีระยะทางรวม 16.127 กม. วงเงินงบประมาณ 1,349,204,700 บาท ปัจจุบันสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว

จุดเริ่มต้นบนทางหลวงหมายเลข 247 ที่ กม.0+000 และสิ้นสุด ที่ กม.16+127 มีลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแนวใหม่ มาตรฐานชั้นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ช่องจราจรกว้าง 3.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบเกาะร่อง ผิวจราจรแอสฟัสต์คอนกรีต ทำการก่อสร้างสะพานข้ามคลอง จุดกลับรถ และสะพานทางแยกต่างระดับเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 212 สาย หนองคาย-อุบลราชธานี

โครงการก่อสร้างทางหลวงสายเลี่ยงเมืองหนองคาย (ด้านตะวันออก) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทางหลวง รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย สนับสนุนการเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านทาง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย) เป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ในแผนโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ และเป็นโครงการสำคัญตามมติคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งเส้นทางนี้ สามารถเชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และทางหลวงหมายเลข 212 เป็นทางเลือกในการสัญจรที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางโดยไม่ผ่านตัวเมืองหนองคาย

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจร ส่งเสริมการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 รองรับตามความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ