กรณีนายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง ถูกตำรวจจับกุมในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” พร้อมของกลางเงินสด 50,000 บาท ได้ห้องทำงานฝ่ายโยธา สำนักงานเขตลาดกระบัง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

จับคาหนังคาเขาช่างโยธาลาดกระบัง รีดสินบนผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัด กทม. แถลงความคืบหน้าในการดำเนินการด้านวินัยกับนายช่างคนดังกล่าวว่า ขณะนี้นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ได้ลงนามคำสั่งกรุงเทพมหานคร 2748/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และคำสั่งกรุงเทพมหานคร 2749/2566 ให้ข้าราชการรายดังกล่าวช่วยราชการ ที่ กองแผนงานและสาธารณูปโภค สำนักการโยธา (สนย.) ซึ่งเป็นกองที่ไม่ได้สัมผัสกับประชาชน และในวันนี้ ปลัด กทม. จะลงนามในคำสั่งพักราชการข้าราชการรายดังกล่าว ตามข้อ 85 กฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 โดยกำหนดเวลาไม่เกิน 120 วัน และยืดระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งระหว่างนั้นจะไม่ได้รับเงินเดือนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโยธา 40 เรื่อง แบ่งเป็นเรียกรับสินบนการขอใบอนุญาต 12 เรื่อง ใน 10 เขต/การก่อสร้างต่อเติมรื้อถอนอาคารที่ผิดกฎหมาย แต่หน่วยงานดำเนินการ ล่าช้า 7 เรื่อง/ปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลที่สาธารณะ 2 เรื่อง/การบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ได้บรรจุ 1 เรื่อง/การนำทรัพย์สินทางราชการไปใช้ส่วนตัว 1 เรื่อง และเรื่องอื่นๆ เช่น ปรับปรุงพื้นถนนบริเวณทางลอดอุโมงค์ล่าช้าป้ายขนาดใหญ่ยื่นนอกอาคาร, การลงชื่อเข้างานแทนกัน และทอดทิ้งหน้าที่ราชการ เป็นต้น

ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบข้อเท็จจริง หากเข้าข่ายทุจริต จะส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หากไม่เข้าข่ายทุจริต แต่มีความผิดทางวินัย จึงจะเสนอผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ดำเนินการต่อไป

ซึ่งจากข้อมูลแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ ตั้งแต่ ก.พ. – ส.ค.66 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 206 เรื่อง เกี่ยวกับเรื่องของโยธา 40 เรื่อง / เทศกิจ 39 เรื่อง / รักษาความสะอาด 36 เรื่อง และเรื่องอื่นๆที่ไม่ทราบสายงานอีก 32 เรื่อง ซึ่งจะเร่งสืบข้อเท็จจริง ส่งเรื่องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

รองปลัดกทม. กล่าวต่อว่า สำหรับนายช่างคนดังกล่าว เดิมทีอยู่เขตห้วยขวาง จากนั้นในปี49 -54 ได้ย้ายมาเขตลาดกระบัง พอมาปี 60 ได้ย้ายกลับมาอยู่เขตห้วยขวาง ปี61 ย้ายไปเขตลาดกระบังอีก พอปี64 ย้ายไปเขตวังทองหลาง ปี65 จนถึงปัจจุบัน กลับมาอยู่เขตลาดกระบัง ในตำแหน่งนายช่างโยธาอาวุโส

กรณีที่มีเจ้าหน้าที่บริหารงานที่เดิมเป็นเวลานานๆ หรือย้ายไปแล้วกลับมา ดังนั้นจึงจะเสนอผู้บริหารพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหา ป้องกัน การทุจริตในลักษณะนี้ โดยเฉพาะการอยู่นาน และโยกย้าย รวมถึงระบบการขออนุญาต ที่ต้องมีการปรับแก้ไข ไม่ให้ใช้ดุลยพินิจ และเจอกับผู้ขออนุญาตเพียงสองคนต้องมีทีมเฉพาะในการดูแลเรื่องการเซ็นใบอนุญาตด้วย

พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนมีการร้องเรียนไปทาง ป.ป.ท. ผ่านโทรฯ สายด่วน 1206 และช่องทางหน่วยงานปราบปรามทุจริตอื่น ซึ่งทาง กทม. ก็มีสายด่วน 1555 แต่ประชาชนไม่เชื่อใจในการติดต่อทางนึ้ แต่ กทม. ก็มีการปราบปรามทุจริตอย่างจริงจัง นอกจากนี้ กทม. มีแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ ในการรับแจ้งเรื่องราวทุจริต เป็นระบบปกปิกข้อมูลข้อมูลของผู้แจ้ง ซึ่งจะส่งเข้า ศปท.กทม. โดยตรง

“อย่ากลัวที่จะให้ชื่อ และเบอร์โทรฯ ติดต่อกลับ เพราะ กทม. มีการดำเนินการปราบปรามทุจริตอย่างรวดเร็ว ไม่มีการช่วยเหลือลูบหน้าปะจมูกกัน และขอให้ประชาชนไม่อดทนต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น” พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้เตรียมจะเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม. ให้การเพิ่มกฎระเบียบการเอาผิดกับระดับหัวหน้า ตามลำดับชั้น หรือการเอาผิดกับผู้บังคับบัญชา ที่ปล่อยให้มีการปล่อยปละละเลย

“หัวหน้าฝ่ายโยธามีส่วนรู้เห็นหรือไม่ ทราบขั้นตอนให้บริการประชาชนหรือไม่ ทำไมถึงใช้ระยะเวลาการอนุญาตเนิ่นนาน มีการแนะนำประชาชนอย่างไร เรื่องพวกนี้ต้องมีการบันทึกเลขรับหนังสือ และต้องตอบกลับหนังสือให้ประชาชนได้ทราบถึงเหตุผล ถ้าช้าจากความบกพร่อง ให้ดำเนินการทางวินัย ถ้าช้าจากการเรียกรับผลประโยชน์ให้ดำเนินคดีอาญา สิ่งเหล่านี้ต้องให้ผู้บังคับบัญชาระดับ ผอ.เขตต้องเข้ามาสอดส่องดูแล” พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าว

อยากให้มีการบันทึกหนังสือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ ผอ.เขตได้ตรวจสอบว่าประชาชนมีการขออนุญาตอะไรบ้าง เมื่อเวลาครบกำหนดระบบจะมีการแจ้งเตือนว่ามีการเซ็นอนุญาต ถ้ามีความล่าช้าต้องมีการตรวจสอบในแต่ละฝ่าย ซึ่งจะปิดช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ได้

“ประมวลจริยธรรมมีการใช้ในราชการแล้ว ในเรื่องของครองตน ครองงาน ตัวเองใช้หลักคุณธรรมในการทำงานหรือไม่ มีหลักเกณฑ์หรือไม่ ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลางหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตผู้ที่ถูกดำเนินคดีทุจริตระยะหลังมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งใกล้วัยเกษียณ ซึ่งตรงข้ามกับกับชีวิตราชการ ที่จะต้องเตรียมพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ใช่มาต่อสู้ดำเนินคดี หรือมาเป็นนักโทษ.