เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 13 ก.ย. ที่สํานักงานเดลินิวส์ ถนนวิภาวดีรังสิต คณะผู้บริหารเดลินิวส์ นำโดย คุณประพิณ รุจิรวงศ์ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ คุณปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ นายนต รุจิรวงศ์ เลขานุการกรรมการบริหาร และนายนนท์ รุจิรวงศ์ ผอ.ฝ่ายขายและจัดจำหน่าย ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือจัดทำ “โพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” กับคณะผู้บริหารเครือมติชน นำโดย คุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) คุณปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมี นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตัวแทนจาก 5 กองบรรณาธิการ ประกอบด้วย กองบรรณาธิการเดลินิวส์ กองบรรณาธิการมติชน กองบรรณาธิการข่าวสด กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ และกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ เข้าร่วมงานด้วย

คุณประพิณ รุจิรวงศ์ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวว่า เมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 “เดลินิวส์และมติชน” ได้ผนึกกําลังสร้างปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ “เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66” ด้วยการเปิดให้ประชาชนร่วมโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์-มติชน 2 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมโหวตกว่า 170,000 ราย ซึ่ง “ผลโพล” ก็ได้ทําหน้าที่สะท้อน “ฉันทามติ” ในกลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างแม่นยํา

ดังนั้น ในวันที่รัฐบาลภายใต้การนําของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายการบริหาร ราชการแผ่นดิน และเข้าบริหารประเทศอย่างเต็มตัว ก็คงได้เวลาที่เราควรจะจับมือกันเพื่อทำ “โพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ในการ “สะท้อนเสียง” ของประชาชน ส่งกลับไปที่รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร ว่า อะไรคือความคาดหวังที่แท้จริงของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลลงมือทํา และอยากเห็นฝ่ายค้านติดตามตรวจสอบได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็นมากขึ้น

เป็นที่กล่าวกันว่า “เสรีภาพ” คือการที่ประชาชนสามารถส่งเสียงไปถึงรัฐบาลได้ และ “ประชาธิปไตย” คือการที่ผู้แทนราษฎรและรัฐบาลรับฟังเสียงเหล่านั้น ดังนั้น เสียงจากประชาชนที่จะเกิดขึ้นจาก “โพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ครั้งนี้จะสามารถเป็น “ตัวแทน” ความต้องการของประชนชน ได้อย่างมีน้ำหนัก ดังเช่นที่ได้เคยแสดงให้ปรากฏในการทําโพลเลือกตั้งมาแล้ว และจะเป็นเสียงที่ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านสามารถรับฟังเพื่อเป็นประโยชน์ในการทําหน้าที่ตามที่ประชาชนคาดหวังต่อไป

ส่วนทางด้าน คุณปารเมศ เหตระกูล คณะกรรมการบริหารรับผิดชอบบรรณาธิการบริหารฯ กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งผ่านไป 3 เดือน ก็หมายความว่า ประเทศจะได้เริ่ม “เดินหน้า” อีกครั้ง ท่ามกลางปัญหา และความท้ายต่างๆ ที่รออยู่ สื่อทั้งสองจึงขออาสาเดินหน้าถามประชาชนอีกครั้ง ว่าอะไรคือปัญหาที่อยากให้แก้ไขกันจริงๆ เพื่อให้รัฐบาลรับทราบ จัดการนโยบายให้ตรงจุด เพราะประเทศจะไปต่อได้ เมื่อมีการสะท้อนความเห็นต่อกันบน “พื้นที่สาธารณะ”

หลายวันที่ผ่านมา เราได้เห็นท่านนายกรัฐมนตรีเดินสายพบปะกลุ่มคนต่างๆ ในหลายพื้นที่ สะท้อนให้เห็นความต้องการที่รับฟังเสียงเรียกร้องต้องการจากภาคส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม ”โพลเดลินิวส์X มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” จะเป็นเสียงเรียกร้องที่มาโดยธรรมชาติ เปิดกว้างจากทุกพื้นที่ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในการทำงานทั้งของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริงๆ นี่คือ ความหมายที่แท้จริงของ “พื้นที่สาธารณะ”

เดลินิวส์ เป็นกลุ่มสื่อที่ก่อตั้งมา 60 ปี มีเครือข่ายคนทำงานข่าว และกลุ่มผู้อ่านและผู้ติดตามอยู่ทั่วประเทศ เราจึงได้มีโอกาสสัมผัสถึงความรู้สึกเดือดร้อน ต้องการที่เกิดขึ้นในวงกว้างอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะเป็นสื่อกลางร่วมกับ มติชน ในการสะท้อนสิ่งเหล่านี้ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าประเทศไทย

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ ต้องการหาคำตอบในเรื่องที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ทั้งช่วงก่อนเลือกตั้งจนถึงช่วงระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล นั่นคือ “ระหว่างการเมือง และเศรษฐกิจ” อะไรมาก่อนกัน หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า ระหว่าง “ปัญหาเชิงโครงสร้าง และปากท้อง” อะไรสำคัญ หรืออะไรควรจะมาก่อน แทนที่จะให้ “วิวาทะ” นี้ วนเวียนเฉพาะนักการเมือง หรือกองเชียร์ผู้สนับสนุนจะเป็นการดีกว่าไหม

หากจะหวนกลับไปถามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะพวกเราทั้งหลายคงจำได้ว่า ฉันทามติที่ปรากฏในโพลก่อนวันเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งผลการเลือกตั้งก็สอดคล้องกันอย่างถล่มทลาย ปราศจากข้อสงสัย แต่ที่สุดผลการจัดตั้งรัฐบาลดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น การแก้ปัญหาปากท้องมาก่อน คือ ธงนำของการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ ซึ่งอาจจะถูกต้องหากพิจารณาบริบทภาวะเศรษฐกิจทั้งส่วนของรายได้-ภาระค่าใช้จ่าย และหนี้สิน คือสิ่งรุมเร้าชีวิตคนไทยหนักหน่วง

แต่หากประชาชนเกิดคิดไปอีก STEP ว่า ปัญหาปากท้องมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น รัฐสวัสดิการ การขาดการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม ก็จะกลายเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องคิดหนักเช่นกัน การสำรวจครั้งนี้ จึงต้องลงลึกมากขึ้น ครั้งนี้ไม่ได้ถามเรื่องพรรค ความชอบในบุคคล แต่เป็นการตั้งคำถามถึงความรู้สึกว่าเมื่อมีรัฐบาลแล้ว อยากให้เร่งแก้เรื่องไหนมากที่สุด ระหว่าง การเมือง และเศรษฐกิจ โดยทั้งสองประเด็นใน “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” จะมีหัวข้อย่อยให้เลือกระบุ เพื่อแจกแจงความเห็นให้ชัดเจน ยืนยันความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่ตามที่ฝ่ายการเมืองหาเสียงเอาไว้ทางเดียว

ขณะเดียวกันคุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “อำนาจชาวบ้าน” ได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์ต้องการสร้าง “การเปลี่ยนแปลง” และเมื่อกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ได้ผ่านพ้นไป “อำนาจชาวบ้าน” จึงเคลื่อนตัวมาสู่การเรียกร้องต้องการให้รัฐบาลลงมือ ทำงานแก้ไขปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ เป็นการให้โอกาสทั้งกับรัฐบาล ประเทศชาติ ประชาชน ได้เดินหน้าต่อไป ภายใต้เงื่อนไขว่ารัฐบาลและฝ่ายค้านต้องฟังเสียงประชาชน และภายใต้บริบทภาวะเศรษฐกิจ และสังคมที่เผชิญหน้ากันอยู่จริง

กิจกรรมการทำ “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ครั้งนี้ เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือมติชน และเดลินิวส์ โดยเปิดโหวตตั้งแต่วันที่ 1- 31 ต.ค.66 รวมระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ หลังจากแถลงข่าววันนี้จะมีการเปิดตัวคณะทำโพลและทีมวิชาการ ต่อจากนั้นในช่วงปลายเดือนกันยายน ก็จะเป็นช่วงการนับวันเคานท์ดาวน์สู่วันทำโพล ที่เป็นทั้งการประชาสัมพันธ์เชิญชวน และรายการพิเศษโดยฝ่ายวิชาการด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

เมื่อเข้าช่วงการทำโพลในเดือนตุลาคม เป็นการรายงานข่าวความคืบหน้าและกระแสความตื่นตัวในการแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง รายงานคนดังร่วมทำโพล จนถึงวันปิดโพล ก็จะแถลงผลโพลร่วมกันทางสื่อออนไลน์ และปิดท้ายด้วยจัดกิจกรรมเวทีใหญ่ เจาะลึกเรื่องโพลของ เดลินิวส์-มติชน ในเดือนพฤศจิกายน จากประสบการณ์ทำโพลเลือกตั้งที่ผ่านมา เราพบว่าผู้มาร่วมทำโพลคือ ประชาชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ซึ่งทำให้เราคาดในช่วงนั้นว่าจะเป็นกลุ่มคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย ซึ่งผลก็ปรากฏเป็นเช่นนั้นจริง ในครั้งนี้ก็เช่นกันที่เราเชื่อมั่นว่าผู้ที่จะมาร่วมโหวต จะเป็นผู้มีความตื่นตัวเป็นพลังติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

ดังนั้นการทำ ”โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ครั้งนี้จึงเป็นการยืนยันว่า “อำนาจชาวบ้าน” จะไม่สิ้นสุดลงเมื่อกาบัตรเลือกตั้ง หากยิ่งต้องแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นในช่วงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง รวมถึงการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของฝ่ายค้านซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชนมี “พื้นที่สาธารณะ” ในการแสดงพลังเรียกร้องต้องการสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะช่วยทำให้ชีวิตมีโอกาสและความหวังเพิ่มมากขึ้น ด้วยกลไกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง มติชน เดลินิวส์ และพันธมิตรด้านวิชาการ ขอร่วมอาสาเป็นสื่อกลางเพื่อทำหน้าที่สร้าง “พื้นที่สาธารณะ” และ “อำนาจชาวบ้าน” ในครั้งนี้

ด้านคุณปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บมจ.มติชน กล่าวว่า ความโดดเด่นของการทำโพลมติชน X เดลินิวส์ คือ การวิเคราะห์ผลโพล เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้สำรวจทำให้เราสามารถจัดเก็บข้อมูลเชิงลึก เช่น โครงสร้างประชาชากร ซึ่งสามารถนำมาประมวลผลวิเคราะห์ ให้เกิดความเข้าใจ ปัญหา และความต้องการที่แท้จริง เนื่องจากมิติเชิงนโยบายจะมีความซับซ้อนมากกว่า มิติเชิงการแข่งขันเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีผลกระทบในระยะยาวมากกว่า “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” จึงจะมีทีมนักวิชาการ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และนักวิเคราะห์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่เกาะติดประเด็นนโยบายสาธารณะอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญในการสะท้อนเสียงของประชาชน สู่การดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

จากประสบการณ์ทำโพลเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ผลจะออกมาอย่างแม่นยำ เกินคาด แต่จุดยืนของเราคือ ความเป็นสื่อและไม่ต้องการทำโพลที่เป็นทางการแบบมืออาชีพ แต่ทำเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่าน และคนดูของทั้ง 2 สื่อสนใจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของสังคมไทยร่วมกัน ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นต่อไปได้