เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่โรงแรมบลู อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสนั่น อังอุบลกูล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการขับเคลื่อนการยกระดับเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน (นครพนมโมเดล) โดยมี นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ดร. กฤษณะ วจีไกรลาศ เลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนพัต ทีฆธนานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม ร่วมแถลงข่าว โอกาสนี้ นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 11, 14 นายมงคล วิมลรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสาวกนกพร ใชยศล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ ดร. ศุภพานี โพธิ์สุ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครพนม และสื่อมวลชน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ ด้วยการพัฒนาเมืองรองให้เป็นเมืองหลักโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยกระทรวงมหาดไทยได้นำนโยบายดังกล่าว ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ได้แก่ ประการที่ 1) สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการเป็น Partner ที่ดีของหอการค้าและคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) และทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยกำหนดเป็น KPIs ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องร่วมประชุม ร่วมปรึกษาหารือ เพื่อหาข้อสรุปในการช่วยกันแก้ไขปัญหา ช่วยกันพัฒนา ช่วยกันดำเนินการเป็นประจำต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง ประการที่ 2) ให้ทุกจังหวัด ทำงานบนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งในปีนี้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอจะทำให้เกิดการรวมกลุ่ม รวมตัว เพื่อดูแลหมู่บ้านทุกหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านที่สอดคล้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว คือเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ด้วยการขับเคลื่อน SDGs สอดคล้องกับความมุ่งมาดปรารถนา เพื่อหนุนเสริมทำให้จำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนคน จำนวนเวลาให้นานขึ้น อันจะทำให้คนนครพนมมีโอกาสสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้นครพนมเป็น Restination ประการที่ 3) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพูดคุยหารือกับ 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน วิเคราะห์ค้นหาจุดแข็ง/จุดอ่อนในทุกพื้นที่ เพื่อกำหนดวิธีการพัฒนาต่อยอดตอบสนองการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในจังหวัด เพราะนครพนมมีจุดแข็งหลายประการ อาทิ มีเส้นทางขี่จักรยานชมแม่น้ำโขงที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่นครพนม และพุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่าหากใครได้เวียนเทียนรอบพระธาตุพนมครบ 7 ครั้ง จะรอดปลอดภัย อันสะท้อนว่า นครพนมมีเรื่องราว (Story) และมี Soft Power มากมาย ทั้งสุขภาพ อาหาร เสื้อผ้า เป็นต้น ประการ 4) หนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญของหมู่บ้านยั่งยืน คือ “ความปลอดภัย” โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ซึ่งขณะนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ร่วมกับทีมจังหวัด ค้นหาคนจิตเภทจากการใช้สารเสพติดและจากโรคทางจิตเวชเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อป้องกันคนกลุ่มนี้ไม่ให้สร้างความหวาดระแวงให้กับสังคม อันจะหนุนเสริมให้เกิดเมืองที่น่าอยู่ปลอดภัย ประการที่ 5) ในเรื่องการจัดการน้ำเสีย ในเชิงระบบ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 71 (พ.ศ. 2566) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับระบบการระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลตั้งแต่ครัวเรือน เพื่อให้ระบบการระบายน้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยในส่วนของระบบบำบัดน้ำเสียรวม องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) สามารถขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การศึกษาเพื่อวางแผน และเมื่อมีผลการศึกษาจึงเข้าสู่กระบวนการจัดทำคำของบประมาณ และประการที่ 6) กระทรวงมหาดไทยได้ช่วยหนุนเสริมให้นครพนมมีช่องทางสื่อสารสิ่งที่เป็นเรื่องที่ดีเด่นสู่สังคมมากขึ้น ทั้ง Branding Packaging อาทิ “นาหว้าโมเดล” ของศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทั้งนี้ ในแง่เชิงระบบ เราต้องใช้งบลงทุนจำนวนมากในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีนักธุรกิจเป็นผู้นำ รัฐหนุนเสริม

“จากการร่วมหารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และท่านประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม ทำให้เห็นว่า ภาคีเครือข่ายของจังหวัดนครพนมมีความ Smart คือ ทำการบ้านดี มีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อทำให้นครพนมมีเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและยั่งยืน คือ การสร้างตัว สร้างภาพ สร้างเรื่อง สร้างชื่อ สร้างโลก อย่างมีเสน่ห์ ที่จะทำให้ทุกจังหวัดได้ประโยชน์นอกเหนือจากการที่จังหวัดนครพนมได้รับประโยชน์เพียงจังหวัดเดียว ทั้งนี้ ขอฝากพี่น้องชาวนครพนม ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และท่านประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม ต้องช่วยกันสร้างพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ทำให้นครพนมที่มีของดีอยู่แล้ว ได้รับการยกระดับอย่างก้าวกระโดด คือ “ทำให้คนทั่วโลกมานครพนมได้ 365 วัน” ทั้งการเป็น “เมืองแห่งการทำงาน” ต้อง เพิ่มประสิทธิภาพระบบสื่อสาร “เมืองแห่งการออกกำลังกาย” ที่ต้องมีกิจกรรมทั้ง 12 เดือน เพื่อกำหนดปฏิทินการท่องเที่ยว เช่น 12 เดือนแห่งการปั่น สลับไปในทุกอำเภอ ท้ายที่สุด เรามีความหวัง ว่า นครพนมจะนำฤกษ์นำชัยทำให้การยกระดับเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนนี้ประสบความสำเร็จ ดังที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ ทำให้ 10 จังหวัด เป็นเรือธงใหม่ของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง โดยกระทรวงมหาดไทยจะร่วมกับทุกกระทรวง ร่วมกันผลักดันให้ประสบความสำเร็จ และขอให้พวกเราได้ช่วยกันทำให้เต็มที่ “นครพนมต้องประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน” ภายใต้การร่วมไม้ร่วมมือของพวกเราทุกคน

นายสนั่น กล่าวว่า ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เห็นชอบกับแนวคิดที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเสนออันสอดคล้องกับทางรัฐบาล คือ การพัฒนา 10 จังหวัด เพื่อจะได้เป็นพื้นที่ตัวอย่างของความร่วมมือรัฐบาลกับเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะมาช่วยกันร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ GDP เติบโตขึ้นจากเพียง 1.9% เป็น 5% และมีความคาดหวังว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ ต้องลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับเศรษฐกิจของไทย จึงมีดำริให้หอการค้านำภาคเอกชนไปทำอย่างเต็มที่ และภาครัฐจะสนับสนุนเต็มที่ จึงเป็นที่มาของการ kick off โครงการยกระดับเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนที่จังหวัดนครพนม เพราะภาคีเครือข่ายมีความเข้มแข็ง โดยเรามองว่า จะประสบความสำเร็จแน่นอน ด้วยการต้องเผชิญกับความท้าทาย คือ 1) ต้องแข่งกับเทคโนโลยี 2) ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม 3) ต้องมีการ Challenge ตลอดเวลา

นายวันชัย จันทร์พร กล่าวว่า นครพนมเป็นเมืองที่รวม 3 ที่สุด คือ ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่สวยที่สุด วิวทิวทัศน์ที่สวยที่สุด โดยปี 2565 – 2566 เรามีอัตราเจริญเติบโตท่องเที่ยวสูงสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยเสน่ห์และอัตลักษณ์ของ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ และน้ำจิต น้ำใจ แม้เรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่มาก แต่สามารถบริหารได้ดี เราเป็นจังหวัดขนาดเล็กที่บูรณาการทำงานร่วมกันทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และปีนี้เรามีกิจกรรมสำคัญ เช่น ไหลเรือไฟ งานปีใหม่ นมัสการพระธาตุพนม และมหกรรมบอลลูน มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไม่ต่ำกว่าวันละ 100,000 คน และที่จะเกิดเร็ว ๆ นี้คือ งานสงกรานต์ นอกจากนี้ ในเรื่องคมนาคมขนส่งเรามีความพร้อม ถนนหนทางดี และจะพัฒนาท่าอากาศยานนครพนมสู่ท่าอากาศยานนานาชาติ เพื่อเชื่อมนานาประเทศ เชื่อมเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม การท่องเที่ยวในอนาคต

“เรามีองค์พญาศรีสัตตนาคราช แลนด์มาร์คแห่งความศรัทธาของชาวจังหวัดนครพนม มีพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 8 พระธาตุ ซึ่งสิ่งที่เราจะต่อยอดสู่การพัฒนาเมืองนครพนมหลังจากนี้ เรามุ่งพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการน้ำเสีย เป็นสิ่งแรกที่เราจะพัฒนา 2) นครพนม eye คือ ชิงช้าสวรรค์ 3) หอชมเมือง 4) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยน้อมนำแนวทาง “หมู่บ้านยั่งยืน” และการสำรวจสภาพปัญหาด้วยระบบ ThaiQM มาแก้ปัญหา โดยเราเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของ ปปส. 5) ด้านสาธารณสุข และ 6) ด้านการศึกษา ซึ่งสิ่งสำคัญ วันนี้เรากำหนดคำขวัญการทำงานว่า “ทีมนครพนมเพื่อไปสู่เมืองที่มีประสิทธิภาพ” เราจะร่วมกันพัฒนานครพนมไปสู่เมืองหลักในอนาคต ในเร็ว ๆ นี้ให้ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” นายวันชัย กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายธนพัฒน์ ทีฆธนานนท์ กล่าวว่า ภายใต้การยกระดับเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน (นครพนมโมเดล) เราได้กำหนดเป้าหมาย ระยะ 5 ปีจะมี GDP เติบโต 7% ทุกปี รายได้ประชากรเติบโต 5% ทุกปี ทั้งนี้ ปี 2566 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 3,500 ล้านบาท เราจะทำให้ใน 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็น 8,700 บาท ในด้านจำนวนนักท่องเที่ยว ปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน เราจะทำให้ใน 5 ปีข้างหน้า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 3.6 ล้านคน “เรานำหลัก 5 สร้าง คือ “สร้างตัว” โดยกำหนด Sustainable Goals เพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ “สร้างภาพ” ภาพลักษณ์ของนครพนมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว “สร้างเรื่อง” นำเสนอเรื่องราวเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว เพื่อทำให้เศรษฐกิจยั่งยืนมากขึ้น “สร้างชื่อ” ทำให้เกิดนครพนมแฟชั่นวีค เริ่มจากนาหว้าโมเดล และ “สร้างโลก” ให้งานกิจกรรมประเพณีเป็นงานระดับโลก โดยภาคเอกชนพร้อมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ทำให้ “นครพนมเป็นเมืองหลักแห่งการพักผ่อนให้ได้””

นายธนพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม ดร. กฤษณะ วจีไกรลาศ กล่าวว่า เราจะนำความเห็นจากการระดมข้อเสนอแนะในวันนี้ ไปจัดทำข้อสรุปนำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงาน เพื่อนำเสนอโครงการที่จังหวัดจะขับเคลื่อนโดยกลไกภาคเอกชน และขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป และคณะฯ จะลงพื้นที่กาญจนบุรี ในวันที่ 7 มิ.ย. 67 และนครศรีธรรมราช 5 ก.ค. 67 และมีแผนจะลงเยี่ยมและประชุมกับทุกจังหวัดต่อไป