สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ว่า นายอิสราเอล คัตซ์ รมว.การต่างประเทศอิสราเอล กล่าวเมื่อวันจันทร์ เรียกตัวนายกิลาด เออร์ดัน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้เดินทางกลับ “เพื่อปรึกษาหารือ” เกี่ยวกับ “ท่าทีเพิกเฉยของยูเอ็น” กรณีการก่อการร้ายของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566


ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลออกแถลงการณ์ ว่าสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ) ว่าจ้าง “ผู้ก่อการร้าย” มากกว่า 450 คน ในรูปแบบของครูสอนภาษาอาหรับ


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของอิสราเอลเกิดขึ้น หลังยูเอ็นเผยแพร่รายงาน “มีเหตุผลอันสมควรขั้นพื้นฐาน” ที่จะเชื่อถือได้ว่า กลุ่มฮามาสก่อเหตุข่มขืนในวันที่ลงมือโจมตีอิสราเอล และตัวประกันบางคนในฉนวนกาซาถูกข่มขืนระหว่างการควบคุมตัวเช่นกัน สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับอิสราเอล ซึ่งประณามรายงานฉบับนี้ “ว่าต้องรอนานถึง 5 เดือน”


ด้านยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอออกแถลงการณ์ ว่ากองทัพอิสราเอลควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอหลายคนไปจากฉนวนกาซา และมีการสอบสวนด้วยวิธีรุนแรง ซึ่งรวมถึง “การดูแลที่ผิดหลักมนุษยธรรม” และ “การทรมาน” เพื่อให้รับลงนามใน “เอกสารรับสารภาพ” แล้วอิสราเอลนำข้อมูลเหล่านั้น “ไปเผยแพร่อย่างบิดเบือน” ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ ตกอยู่ในอันตราย


อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ ยืนยันการไล่ออกเจ้าหน้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 10 คน และดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังตรวจสอบพบว่า มีความเกี่ยวข้องโดยตรง กับเหตุการณ์โจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีที่แล้ว และเป็นชนวนของสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน.

เครดิตภาพ : AFP