เรียกได้ว่ากำลังกลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ต่างพากันฮือฮา และให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ภายหลังแฟนเพจเฟซบุ๊ก Land of Smile at Chiang Mai ได้ลงโพสต์ลงประกาศขาย “ตลาดช้างเผือก” ตำนานเมืองเชียงใหม่ โดยระบุว่า

“ตลาดช้างเผือก ตำนานเมืองเชียงใหม่ 4 ไร่ 58 ตารางวา รายได้ระยะยาวจากการเช่า ปัจจุบันประมาณ 450,000++ ต่อเดือน จำนวน 25 อาคาร พร้อมแผงลอยในตลาด พิกัด: https://goo.gl/maps/KNszpBuDgP6Sz5mp9

ผังเมือง : สีแดง ราคา 400 ล้าน ค่าโอนคนละครึ่ง (สนใจต่อรองกับเจ้าของโดยตรง) รายละเอียดเพิ่มเติม inbox หรือ โทรฯ/ไลน์ xxx”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเรื่องราวดังกล่าวถูเผยแพร่ออกไปเป็นสาธารณะ ต่างก็มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย..

สำหรับ “ตลาดช้างเผือก” หรือ “ตลาดประตูช้างเผือก” อีกหนึ่งตลาดเก่าแก่ของเชียงใหม่ เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของ หลวงสำเริงณรงค์ หรือนายทองคำ รัตนัย ด้านในเป็นตลาด ด้านนอกติดกับถนนช้างเผือก สร้างเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวให้เช่า ประมาณ 10 หลัง

บ้านของหลวงสำเริงณรงค์อยู่ถัดจากตลาดไปทางทิศเหนือบริเวณธนาคารออมสิน ติดโรงเรียนโกวิทธำรงในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นย่านการค้าที่มีกลุ่มพ่อค้าจากทางเหนือนำของพื้นเมืองต่างๆ มาวางขายร่วมกับคนในชุมชนย่านช้างเผือก ซึ่งเป็นที่รวมของชุมชนหลากหลายเชื้อชาติเช่นเดียวกับย่านอื่นๆ คือมีทั้งชาวจีน คนเมือง คนไทใหญ่ และมุสลิม ความหลากหลายของผู้คนเหล่านี้ เห็นได้จากศาสนสถานซึ่งเป็นสถานที่ทำบุญของแต่ละชุมชนที่ยังคงอาศัยอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น กลุ่มคนเมืองและคนจีนไปวัดเชียงยืน คนไทใหญ่ไปวัดป่าเป้า ส่วนคนมุสลิมก็มีมัสยิดเป็นศูนย์รวมจิตใจอยู่ในชุมชน ชุมชนมุสลิมแห่งนี้เพิ่งจะมาตั้งอยู่ที่นี่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความหลากหลายของชุมชนทำให้ตลาดแห่งนี้ มีกลิ่นอายของความเป็นตลาดนานาชาติโดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ. 2500-2530 และยังมีกลุ่มคนชาวเขาจากทางตอนเหนือของเชียงใหม่ (อ.แม่ริม) ได้นำผลิตผลทางกรเกษตร ของใช้และเสื้อผ้าแบบชาวเขา มาจำหน่ายด้วย

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ตลาดประตูช้างเผือกถูกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ต่อให้ตระกูลตันตรานนท์ ซึ่งซื้อจากหลวงสำเริงณรงค์ผ่านทางธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ราคาขณะนั้นประมาณ ๖ แสนบาท เนื้อที่ ๔ ไร่ ๕๐ ตารางวา สมัยนั้นเป็นตลาดเล็กๆ บางส่วนเป็นนาข้าว ด้านทิศใต้ทางคูเมืองเชียงใหม่เป็นลำเหมืองกว้างใกล้ต้นฉำฉาในปัจจุบัน ต่อมาเทศบาลถมที่และทำเป็นตลาดขายอาหารในเวลากลางคืน ส่วนด้านหน้าติดกับถนนช้างเผือกก็เป็นร่องน้ำ ต่อมาปรับเป็นทางเดินเท้า ด้านทิศตะวันตกแบ่งทำกิจการปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จนปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จึงสร้างตึกแถวด้านข้างและด้านหน้าตลาด รวม ๒๓ ห้องให้เช่า ปัจจุบันตลาดช้างเผือกบริหารในนามของ ห้างหุ้นส่วนสามัญ นิติบุคคลตลาดช้างเผือก มีหุ้นส่วนลูกหลานตระกูลตันตรานนท์รวม ๑๗ คน (อนุ เนินหาด, 2550)

ตลาดช้างเผือกเปิดทำการสองช่วงเวลาหลักคือ ช่วงเช้าเริ่มเปิดตลาดตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00-10.00 น. และช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.00 น. เป็นต้นไป

ช่วงเช้าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าขายปลีกและกลุ่มที่ทำอาหารขาย ซึ่งมีทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป ส่วนหนึ่งขายกันแบบยกโหล เช่น แคบหมู โจ๊ก บะหมี่ และกวยจั๊บ รวมทั้งอาหารสดเช่น หมู ไก่ และเนื้อ แม่ค้าจะทำเป็นห่อเล็กๆ ใส่ถุง ถุงละ 12 ห่อ ผู้ซื้อจะนำไปขายให้กลุ่มคนงานที่เข้าทำงาน ซึ่งมีทั้งคนงานก่อสร้างและคนงานเก็บลำไย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนท้องถิ่นที่อาศัยย่านช้างเผือก ที่มาหาวัตถุดิบประกอบอาหารในครัวเรือน กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งแบบมาเดินเที่ยวเองและแบบมาเที่ยวตามรายการท่องเที่ยวของบริษัททัวร์

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ช่วงเย็น เป็นร้านรถเข็นเปิดขยบริเวณลานด้านหน้าตลาดซึ่งเปิดขายแบบโต้รุ่ง จึงเป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวยามราตรีและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาหารที่ขึ้นชื่อคือ ขาหมูช้างเผือกหรือ ขาหมูคาวบอย ซึ่งผู้ขายมีการแต่งตัวแบบคาวบอย เพื่อสร้างเสน่ห์ในการขาย

อาชีพหนึ่งที่เคยเป็นอาชีพหลักของชาวไทใหญ่ในแถบนี้คือ การทำหนังปอง หรือหนังพอง ที่นิยมรับประทานแกล้มกับขนมจีนน้ำเงี้ยว หนังปองมีลักษณะคล้ายแคบหมูทำจากหนังวัว ในขณะที่แคบหมูทำจากหนังหมู ปัจจุบันอาชีพนี้ไม่ได้พบว่ามีการผลิตขึ้นในชุมชนย่านช้างเผือกแล้ว

ขอบคุณภาพประกอบ : Land of Smile at Chiang Mai, Chiengmai Royal Cuisine