นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. มีมติเห็นชอบทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 67 ที่สำนักงบประมาณเสนอ ตามมติการประชุมการทบทวนวงเงินงบฯ ปี 67 ของ 4 หน่วยเศรษฐกิจ กำหนดวงเงินงบประมาณฯ จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9.26% ด้านประมาณการรายได้ 2.787 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.93% เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 693,000 ล้านบาท การปรับกรอบงบประมาณฯ เพื่อให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบฯ ด้านการลงทุน

สำหรับรายจ่าย แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 75.28% ต่อสัดส่วนงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ 66 จำนวน 217,250 ล้านบาท 2.รายจ่ายเพื่อชดเชยคงคลัง จำนวน 33,759 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.97% ซึ่งการตั้งงบประมาณชดเชยคงคลังเพื่อใช้หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณปี 66 ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 3.รายจ่ายลงทุน จำนวน 717,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.61% ลดลงจากสัดส่วนงบประมาณปี 66 จำนวน 27,719 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.1% ต่อสัดส่วนงบประมาณ 4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.40%

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 อยู่ภายใต้สมมุติฐานมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 66 ที่อัตรา 5% หรือจาก 18.16 ล้านล้านบาท เป็น 19.07 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 908,430 ล้านบาท จากการจัดทำกรอบงบประมาณปี 67 ของรัฐบาลชุดก่อนได้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 2.7-3.7%

หลังจากนี้หน่วยงานราชการจะต้องส่งคำของบประมาณไปสำนักงบประมาณตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. จนถึงวันที่ 6 ต.ค. 66 จากนั้นสำนักงบฯจะใช้เวลาประมาณ 35 วันในการพิจารณาคำของบประมาณก่อนจะส่งเข้าสู่การประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 67 ในวันที่ 26 ธ.ค. 66 ก่อนส่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ 3 วาระ คาดว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 67 ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 17 เม.ย. 67 อย่างไรก็ตามสำนักงบประมาณได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณไปพลางก่อนปี 66 ไปจนถึงเดือน พ.ค. 67 โดยเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ประกาศใช้แล้ว ก็จะเข้าสู่การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบปกติ