จากการจัดการปัญหาขยะทะเลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลด้วยนวัตกรรม ที่ผ่านมาในวันเก็บขยะชายหาดสากล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จ.ระยอง พันธมิตรธุรกิจ และเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เดินหน้าโครงการ “Nets Up” โมเดลการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อทะเลยั่งยืน เปลี่ยนอวนประมงที่ไม่ใช้สู่ Marine Materials วัสดุทางเลือกใหม่จากนวัตกรรมรีไซเคิล เพื่อนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ดังเช่น ธุรกิจสิ่งทอด้วยการขึ้นรูปเป็นเส้นด้าย ทอเป็นผืนผ้าสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อัปไซเคิล สร้างทางเลือกใหม่ให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดปัญหาขยะ และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืนร่วมกัน โดย “สุรชา อุดมศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ ฉายภาพถึง Nets Up โมเดลที่เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวทาง ESG เน้นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการพัฒนานวัตกรรมรีไซเคิล โดยนำความเชี่ยวชาญด้านเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ High Quality PCR มาพัฒนาเป็น Marine Materials วัสดุรีไซเคิลจากอวนประมงไม่ใช้ เป็นทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืน

โมเดล Nets Up เชื่อมโยง Value Chain ครบวงจร โดยบูรณาการทุกภาคส่วนนับแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า เช่น การลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยการบริหารจัดการขยะทะเล การส่งเสริมการจัดการอวนประมงไม่ใช้ไม่ให้หลุดรอดออกสู่ทะเล พัฒนานวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอวนประมงไม่ใช้ การดำเนินการของธนาคารขยะชุมชน สร้างเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จิตอาสาและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยนำร่องโมเดลในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดระยองและมีแผนขยายโครงการไปทั้ง 23 จังหวัดริมชายฝั่งทะเลประเทศไทย

“โครงการนี้เป็นการผสานความร่วมมือร่วมกัน เชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าครบวงจร เริ่มจากเก็บรวบรวมอวนประมงที่ไม่ใช้นำมาทำความสะอาด คัดแยก มีระบบการรับซื้อที่เป็นธรรมผ่านธนาคารขยะชุมชนโดยมีแอปพลิเคชันคุ้มค่าเป็นเครื่องมือช่วยเก็บและบันทึกข้อมูลการซื้อขาย มีกระบวนการรีไซเคิลด้วยนวัตกรรมขั้นสูงผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และต่อยอดพัฒนาเป็น Marine Materialsตามความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม”

สำหรับอวนประมงไม่ใช้ หากตกไปอยู่ในท้องทะเล นอกจากใช้เวลาย่อยสลายนานทั้งยังมีโอกาสทำให้สัตว์นํ้าเข้าไปติดอยู่ในอวน แต่หากถูกทิ้งกองไว้ก็จะกลายเป็นขยะหรือถูกส่งไปกำจัดนำไปฝังกลบ เผา ฯลฯ จากโครงการฯ ในช่วงเริ่มต้น โครงการรับซื้ออวนปูที่ใช้งานไม่ได้จากชาวประมงในชุมชน โดยมีกลุ่มนำร่อง 10-12 ชุมชนในพื้นที่ระยอง โดยวัสดุรีไซเคิลจากอวนประมงที่ไม่ใช้ที่นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อัปไซเคิลโดยที่นำมาทำเป็นเสื้อ เสื้อหนึ่งตัวใช้อวนหนึ่งปาก ช่วยการจัดการอวนประมงไม่ใช้กลับมามีคุณค่า มีมูลค่า ลดปัญหาขยะในทะเล ทั้งเพิ่มเป็นทางเลือกให้กับแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

“อวนที่ไม่ใช้ก่อนนำมาเข้าสู่กระบวนการจะทำความสะอาดก่อน จากนั้นตัดบดย่อยเป็นชิ้นเล็กก่อนเปลี่ยนไปสู่กระบวนการทำเส้นใย โดยเม็ดพลาสติกจากอวนมีสีสวย มีความเข้ม แต่เมื่อทำเป็นเส้นใยสีจะอ่อนลง”

ทางด้าน กาหลง จงใจ ประธานกลุ่มประมงบ้านพลา หาดพลา หนึ่งในกลุ่มนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ ร่วมบอกเล่าโดยกลุ่มเราทำประมงเรือเล็กพื้นบ้าน วางอวนปูเป็นหลัก ซึ่งอายุการใช้งานของอวนประมงแต่ละครั้งจะใช้ได้ประมาณหนึ่งถึงสองเดือนต่อครั้ง จากนั้นจะตัดเลาะเปลี่ยนเนื้ออวน นำส่วนที่เป็นตาข่ายออกและเข้าเนื้อใหม่ ทั้งนี้อวนหนึ่งผืนจะมีทั้งเชือกที่เป็นตะกั่วและส่วนที่เป็นทุ่น

อวนที่ต้องตัดออกจะมีนํ้าหนักประมาณหนึ่งกิโลกรัม แต่ละลำจะมีหลายกองก็จะรวมกลุ่มกันนำไปขายโดยเงินที่ได้จะนำกลับมาซื้อเนื้ออวน ช่วยลดค่าใช้จ่าย ทั้งได้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรคุ้มค่านำอวนประมงที่ไม่ใช้นำกลับมาสร้างคุณค่า เพิ่มมูลค่านำกลับมาเป็นเสื้อได้สวมใส่ ทั้งได้ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมทางทะเลยั่งยืน.