เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 219 บัญญัติให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อควบคุมการปฏิบัติตนของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญซึ่งรวมถึง ส.ส. และ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวมีความสง่างามอันจะทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือ เคารพยกย่อง เสมือนพระสงฆ์ที่ถือศีลและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ย่อมจะได้รับการเคารพกราบไหว้จากสาธุชนอย่างเต็มใจ

มาตรฐานทางจริยธรรมจึงมีขึ้นเพื่อควบคุมการปฏิบัติตนหรือการครองตนในขณะดำรงตำแหน่ง เพราะหากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังการดำรงตำแหน่ง ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการดำรงตำแหน่ง จึงไม่มีเหตุที่จะไปถอดถอนผู้นั้นอีก เช่น กรณีของพระองคุลีมารที่แม้จะเคยฆ่าคนมามากมายอันถือเป็นอาบัติขั้นปาราชิก แต่เกิดขึ้นก่อนการบวชจึงไม่ทำให้ท่านขาดจากความเป็นสงฆ์ ผู้ใดจะเอาการกระทำนั้นมากล่าวหาเพื่อให้ท่านขาดจากความเป็นสงฆ์ในภายหลังไม่ได้

ในทางสากล หากบุคคลใน องค์กรใดมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎกติกาก็จะให้องค์กรนั้นเป็นผู้ดำเนินการ หากเป็นนักการเมืองที่มาจากประชาชน ก็จะให้องค์กรที่มาจากประชาชนขับหรือถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่ง เช่น กรณีวุฒิสมาชิกของสหรัฐลงมติให้ถอดถอนประธานาธิบดี อดีตประธานาธิบดี หรือกรณีของสงฆ์ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยก็จะให้คณะสงฆ์เป็นผู้พิจารณา หรือแม้แต่ผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยก็ให้คณะกรรมการตุลาการเป็นผู้พิจารณา เป็นต้น ยกเว้นการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาด้วย จึงจะส่งเฉพาะเรื่องนั้นให้ศาลพิจารณาลงโทษทางอาญา

ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประชาชนและศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงผิดพลาดและบิดเบือนอำนาจของประชาชน ผลของการตัดสินได้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้ง จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตย การปล่อยให้รัฐธรรมมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไปจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น รัฐบาลจึงควรเร่งกระบวนการเพื่อให้ประชาชนได้มีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเองบังคับใช้ รวมทั้งควรล้างบาปนิรโทษกรรมคืนสิทธิทางการเมืองให้กับบุคคลที่ถูกตัดสิทธิด้วย..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย