เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่อาคารมติชน มีการจัดเสวนา การทำโพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? โดยมี นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ และ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

สำหรับโพลเดลินิวส์ X มติชน ก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือจัดทำโพลวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง 66 ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยครั้งนี้ถือเป็นการทำโพลครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้ง ซึ่งหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีคำถามสะท้อนจากสังคมว่า รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร

นายปารเมศ กล่าวว่า การที่เดลินิวส์และมติชนร่วมทำโพล มีความตั้งใจที่จะแปรเปลี่ยนให้เป็นนโยบายที่ทำได้จริง ๆ รัฐบาลต้องมองโพลอันนี้ เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่มีฐานะประมาณหนึ่ง แต่โพลของเรามาจากทุกระดับชั้น ส่งเสียงปัญหาที่อยากให้แก้ไข ซึ่งรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนและจะเป็นผลดีสำหรับประชาชน และสื่อสารมวลชนอย่างพวกเราด้วย เป็นการสื่อสารสองทาง เป็นจุดสำคัญของรัฐบาลที่ต้องมองกลับมาและนำกลับไปวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ของโพลครั้งนี้ มั่นใจว่าจะเป็นผลบวกกับรัฐบาลโดยตรง

นายปารเมศ กล่าวอีกว่า โพลที่เราทำเป็นโพลธรรมชาติ ไม่มีการจัดตั้ง เป็นเสียงบริสุทธิ์ของประชาชน ที่แต่ละคนสะท้อนออกมา นั่นคือความเป็นจริง ทั้งนี้ อยากเชิญชวนผู้อ่านเดลินิวส์ โพลครั้งนี้เราจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง และนำเสียงของประชานขึ้นสู่รัฐบาลโดยตรง อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในครั้งนี้ คิดว่าทั้งภาครัฐ เอกชน นักธุรกิจ สามารถนำไปวิเคราะห์ได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายเป็นอย่างมาก

ด้าน นายปราปต์ กล่าวว่า โพลมติชน X เดลินิวส์ ได้ทำโพลไปแล้ว 1 ครั้ง ถือว่าเป็นโพลที่ประสบความสำเร็จในการมีส่วนร่วมของผู้อ่าน และตัวชี้วัดผลการเลือกตั้งที่มีความแม่นยำสูงจากลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก ดังนั้นมติชนและเดลินิวส์ จึงเห็นพ้องว่าต้องเดินหน้าทำโพลกันต่อ ส่วนโจทย์ของการทำโพล คือ ปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไข ซึ่งจะเป็นการทำประชาพิจารณ์สะท้อนความรู้สึกคน ปัญหาที่พวกเขาเจอในชีวิตจริง และต้องการให้แก้ไขคืออะไร

เบื้องต้นในการตั้งคำถามของโพลนี้ ได้ประมวลชุดปัญหาหลัก ๆ ที่เราเดาเห็น และประมวลจากชุดนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก และบวกกับนโยบายของพรรคการเมืองอื่น ๆ นำมาแมตช์กัน จุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เราจะมีตัวเลือกอื่น ๆ ที่ประชาชนสามารถเติมความเห็นลงไปได้ เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้อ่านอย่างเต็มที่ ซึ่งการเลือกให้แก้ไขระหว่างปัญหาการเมือง กับปัญหาเศรษฐกิจ เสมือนเป็นวิวาทะตั้งแต่การเลือกตั้ง หากวัดจากผลเลือกตั้งประชาชนมีแนวโน้มให้แก้ปัญหาโครงสร้างการเมือง แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะกลายเป็นนโยบายการแก้ปัญหาปากท้องไปแทน ดังนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังโพล รัฐบาลจะได้มีความมั่นใจและสามารถปรับตัวนโยบายได้ด้วย

“ฐานคนของทำโพล ในแง่จำนวนบวกกับเชิงคุณภาพ จะเป็นเสียงที่น่ารับฟัง คราวก่อนจะเป็นความแม่นยำ แต่ครั้งนี้จะเป็นนัยสำคัญที่สะท้อนปัญหาของประเทศและประชาชน เป็นช่องสนทนาและการรับฟังความคิดเห็น เชื่อว่าจำนวนของคนทำโพลจะมีมากถึงหลักแสน”

นายปราปต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากเชิญชวนคนอ่านและคนดูของเครือมติชน ซึ่งโพลนี้จะเป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะส่งเสียง ต่อผู้มีอำนาจในภาครัฐ เอกชน นายทุน พวกเขาจะต้องฟังเสียงของประชาชนกันอีกรอบหนึ่ง คราวนี้จะสะท้อนปัญหาจริง ๆ ว่ากำลังเผชิญปัญหาคืออะไร อยากให้ผู้มีอำนาจแก้ไขอะไร ซึ่งเป็นครั้งสำคัญของประชาชนที่จะส่งเสียง

ขณะที่ เสวนาการทำโพลเดลินิวส์ X มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? โดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ และ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ด้าน ผศ.อัครพงษ์ กล่าวว่า หลังเลือกตั้งเราไม่ใช่ประชาธิปไตย 3 วินาที การมีโพลอย่างที่มติชน X เดลินิวส์ เป็นหนึ่งในกระบวนการภาคประชาชน เรามอบอำนาจให้รัฐบาล ส่วนรัฐบาลต้องนำอำนาจอธิปไตยของปวงชนไปทำหน้าที่แทนประชาชนทุกคน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 โดยหน้าที่ของรัฐต้องกำกับดูแลสิ่งที่เป็นอยู่ให้เป็นปกติสุข สร้างความสามัคคี เทิดทูนสถาบันตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และอีกข้อคือการแก้ปัญหา ซึ่งนโยบายอีกหลายอย่าง เช่น นโยบายเพื่อสร้าง เพื่อเสริม เพื่อสืบต่อ และอย่าลืมว่ารัฐบาลที่เข้ามาในตอนนี้มีข้อครหาเยอะมาก และไม่ได้ถูกประชาชนเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ได้ตามกฎกติกาจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ผศ.อัครพงษ์ กล่าวอีกว่า ในแง่ของโพลเราทำเพื่อที่จะให้ประชาชนอย่าสิ้นหวังกับรัฐบาล แม้ไม่ใช่รัฐบาลอันดับหนึ่ง แต่ก็เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจ ประชาชนกำลังจับตาสิ่งที่รัฐบาลทำว่ามีอะไรบ้าง และการออกแบบโพลจะเป็นลักษณะกลับหัวกลับหาง เป็นโพลที่พลิกวงการ ที่นำผลแล้วมาดูคำตอบว่าบอกอะไรบ้าง ดังนั้นการทำนโยบายสาธารณะจึงเน้นไปที่ปัญหา ตอนนี้สังคมกำลังรถกเถียงกันอยู่ 2 ข้อ คือ เอากินดีอยู่ดีมาก่อน หรือ โครงสร้างการเมืองกับอุดมการณ์มาก่อน เหมือนกับไข่กับไก่อะไรเกิดก่อนกัน หรือเหมือนกินข้าวแต่ไม่กินน้ำ เพราะฉะนั้นโพลนี้จะผนวกความต้องการทั้งหมดและสะท้อนเสียงอีกครั้งหนึ่ง

“โพลเดลินิวส์ X มติชน ที่สะท้อนปัญหาของประชาชน ไม่ใช่แค่ช่วยรัฐบาลแต่จะช่วยประชาชนด้วย เหมือนที่คุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เคยบอกไว้ว่า อย่าปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยเงียบหาย และประชาชนต้องไม่ผิดหวังกับสิ่งที่เลือกมา ดังนั้นการสะท้อนปัญหา จะส่งผลให้ผู้นำเข้มแข็ง ส่วนประชาชนต้องไม่ละทิ้งรัฐบาลด้วยการส่งเสียงผ่านโพลในครั้งนี้”

ผศ.อัครพงษ์ ระบุว่า โพลครั้งนี้สะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลเศรษฐาต้องแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง นโยบายก็เป็นสินค้าทางการเมือง ดังนั้นตัวเลือกจึงเน้นไปที่ปัญหา และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหา ทำการบ้าน และดูว่าเลือกเศรษฐาจะได้เป็นเศรษฐีจริงหรือไม่ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลมองว่า โพลนี้จะเป็นส่วนเสริมรัฐบาล ขับดันรัฐบาลให้สำเร็จ คนที่ทำโพลนี้ถือว่า เป็นคนที่ตั้งใจจะทำ เพราะต้องใช้เวลา และผลที่ได้ออกมาจะตรงกับสิ่งที่ประชาชนคิด โพลนี้จะเป็นปล่องระบายความร้อน ที่จะระบายความรู้สึกและความหวังของประชาชน แต่ไม่ใช่การไปกระทุ้งรัฐบาล แต่เป็นพื้นที่รับฟังและส่งไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยฟื้นคืนศรัทธาที่มันหายไป และเพิ่มความมั่นใจให้มากขึ้น อีกทั้งโพลนี้ ยังมีประโยชน์ให้พรรคการเมืองอื่น ๆ นำเป็นนโยบายในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้อีกด้วย

กระบวนการทำโพล คือ ประชาพิจารณ์ของประเทศชาติ ว่าคนต้องการอะไร นับเป็นความสุดยอดของความเป็นประชาธิปไตย เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนสำรวจ อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถนำไปเคลมได้เลย ว่าแก้ปัญหาให้แล้ว ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายไหน ถ้าคุณเอฟของได้ ก็สามารถทำโพลนี้ได้ เปิดหน้าแรกให้เลือกระหว่างปัญหาโครงสร้างการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจ หน้า 2 มีการตอบคำถามอีกนิดหน่อย และหน้าสุดท้ายเป็นข้อมูลส่วนตัว เช่น อาชีพ อายุ ตนอยากให้ทุกคนมาถล่มทำโพลเพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า

ด้านนายศิโรตม์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ได้กล่าวในประเด็นปัญหาการเมืองและการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง ว่าชุดปัญหาที่โพลได้จัดทำไว้มีความครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ และจะสามารถสะท้อนปัญหาถึงรัฐบาลได้หรือไม่ ว่า ตนคิดว่าเพียงพอ ปัญหาที่จะพูดจริง ๆ มีลักษณะสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ 1. เรื่องที่คนในสังคมกังวล เป็นเรื่องที่คนในสังคมสนใจ และรู้สึกว่ามันจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ 2. เรื่องที่รัฐบาลซึ่ง ณ วันนี้เป็นแกนนำจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้พูดไว้เยอะในการหาเสียง ฉะนั้นหากถามตนว่าคำถามครอบคลุมหรือไม่ ตนคิดว่าครอบคลุมแล้ว และการครอบคลุมมีนัยยะด้วย เพราะครอบคลุมในเรื่องที่สังคมคาดหวัง และเรื่องซึ่งพรรคการเมืองซึ่งยังไม่ได้เป็นรัฐบาล เคยหาเสียงก่อนเป็นรัฐบาลว่าเขาจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วย ซึ่งผลโพลมันจะตอบเราได้อย่างหนึ่ง คือ รัฐบาลได้ทำสิ่งที่ตัวเองได้หาเสียงเอาไว้หรือเปล่า แล้วเป็นเรื่องซึ่งคนคาดหวังด้วยหรือเปล่า

“ตอนนี้สิ่งที่เป็นประเด็นมาก ณ เวลานี้ คือ รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงาน แต่ว่าในการเพิ่งเข้ามาทำงาน ผมว่าคนเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลเหมือนกับอยู่มานานแล้ว รัฐบาลก็ชอบบ่นว่าเพิ่งเข้ามาไม่กี่วันทำไมคนชอบว่านู่นว่านี่จัง ผมคิดว่าเป็นเพราะกระบวนการที่ก่อนที่รัฐบาลจะตั้งขึ้นมามันหลังเลือกตั้งนานมากเรามีการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม กว่าจะมีรัฐบาลก็ผ่านมา 3-4 เดือน” นายศิโรตม์ กล่าว

นายศิโรตม์ กล่าวว่า มันเป็น 3-4 เดือน ที่คนรู้สึกว่ามันมีสุญญากาศ และเป็นสุญญากาศที่คนอยากเห็นการแก้ไขปัญหา ซึ่งพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลในเวลาที่อย่างที่พูด คือ ไม่ใช่พรรคซึ่งชนะอันดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีความเหนื่อยในการเผชิญปัญหา ซึ่งเรียกว่าปัญหาเรื่องของการปิดกั้นความชอบธรรมบกพร่อง คือ ความชอบธรรมทางการเมืองมีหลายแบบ มีผู้นำที่เก่งก็เป็นความชอบธรรมได้ ผลงานดีก็มีความชอบธรรมได้ แต่สารตั้งต้นที่สำคัญคือที่มา ถ้าคุณชนะอันดับหนึ่งแล้วคุณเป็นรัฐบาล แล้วคุณทำผลงานดี ไม่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมบกพร่องเลย ดรีมทีมเลย แต่ถ้าคุณเข้ามาแล้วไม่ได้เป็นอันดับหนึ่ง คุณก็จะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรรมบกพร่องเรื่องที่หนึ่งไป คุณก็ต้องไปเหนื่อยในการสร้างความชอบธรรมทดแทนมาชดเชยความบกพร่อง เช่น 1.อาจจะต้องมีนายกที่เก่ง 2. รัฐบาลต้องทำตามที่หาเสียงไว้ได้ครบ 3. ในการทำตามที่หาเสียงไว้ได้ครบ ผลงานต้องออกมาดี 3 เรื่องนี้ก็จะเป็นจุดสำคัญสำหรับคนเป็นรัฐบาลที่ถ้ามีปัญหาเรื่องความชอบธรรมบกพร่อง ฉะนั้นตนคิดว่าสำหรับตอนนี้ สิ่งที่มันเป็นประเด็นสำหรับรัฐบาลแล้วก็คนไทยสนใจ คือ รัฐบาลปัจจุบันเขาจะฝ่าประเด็นพวกนี้ไปได้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่มีความสำคัญ และมันไม่ใช่สำคัญเพราะว่าแค่เราสนใจเรื่องการเมือง

“ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจคือช่วงนี้ช่วงใกล้ปลายปีแล้ว เป็นไตรมาส 4 แล้วซึ่งเป็นไตรมาสที่คนจำนวนมากต้องเริ่มวางแผนว่าปีหน้าจะเอาอย่างไร ถ้าเป็นนักธุรกิจก็ต้องเริ่มวางแผน ถ้าเป็นประชาชนก็ต้องคิดว่าปีหน้าจะทำมาหากินอย่างไร หรือว่าถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน ลุ้นว่า 1. จะได้โบนัสไหม 2. ปีหน้าจะมีงานทำไหม ประเด็น คือ อนาคตของรัฐบาล หรือความสำเร็จของรัฐบาลในการบริหารนโยบายต่าง ๆ มันพัวพันกับชีวิตคนในประเทศเช่น ถ้ารัฐบาลซึ่งมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมบกพร่อง ไม่สามารถบริหารนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ หรือบริหารได้แต่ออกมาไม่ดี ความผันผวนทางการเมืองหรือเสถียรภาพทางการเมืองก็จะเกิด แล้วเมื่อมีความผันผวนหรือปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้น ปัญหาเรื่องการทำมาหากินก็จะตามมา เพราะอย่าลืมว่าบรรยกาศเรื่องการทำมาหากินเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นในรัฐบาล แล้วความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเชื่อมโยงกับความสามรถของรัฐบาลที่มีผู้นำที่เก่งและการบริหารนโยบายที่ประสบความสำเร็จ”

ดังนั้น ตนคิดว่าการจัดทำโพลในครั้งนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ซึ่งประชาธิปไตยก็สำคัญ เพราะในแง่หนึ่ง สิ่งที่มติชนกับเดลินิวส์ทำ คือโพลตรวจการบ้านถึงเรื่องที่คุณได้หาเสียงเอาไว้ และเรื่องที่ได้แถลงนโยบายเอาไว้ ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้มันมีความประหลาด คือ เรื่องที่หาเสียงกับเรื่องนโยบายเหมือนกัน คนละส่วน แต่โพลนี้จะตรวจการบ้านทั้งสองส่วนคือเรื่องที่คุณหาเสียงไว้เอาอย่างไร แล้วเรื่องนโยบายรัฐบาลเอาอย่างไร ฉะนั้นมันป็นโพลซึ่งในแง่หนึ่งมันคือกลไกของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลอาจจะรู้สึกว่าเร็วเกินไปที่จะตรวจสอบ แต่ผมคิดว่าในแง่ความเป็นประชาชน

“ประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้ตั้งแต่วันแรก เพราะว่ารัฐบาลอยู่ที่ภาษีของประชาชน ดังนั้นผมคิดว่าโพลนี้มันมากกว่าเรื่องการเมือง ในแง่การเมืองมันคือตรวจการบ้านรัฐบาล แต่ในแง่ที่มากกว่าเรื่องการเมือง ผมคิดว่ามันคือการดูอารมณ์ของสังคม เขามองรัฐบาลอย่างไร มุมมองที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง เสถียรภาพทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนส่งผลโดยตรงต่อปัญหาปากท้องหรือปัญหาชีวิตของประชาชน มันเกี่ยวกันหมด” นายศิโรตม์ กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.อรรถจักร์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึง ชุดปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องว่าชุดปัญหาดังกล่าว มีความครอบคลุมและสะท้อนได้ชัดเจนหรือไม่ ว่า ตนคิดว่าครอบคลุมและชัดเจน ความหมายและความสำคัญของการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งนี้ของมติชนและเดลินิวส์ในครั้งนี้ มันมีความสำคัญ คือ ด้านแรกจะเป็นการสำรวจในจังหวะของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อตัวเองและมีต่อรัฐบาล ซึ่งเราจะเห็นร่องรอยของความเปลี่ยนแปลงหรือปรากฏการณ์ของสิ่งที่เรียกว่าประชาชนเปลี่ยนแปลง

“การสำรวจครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การสำรวจเฉพาะเรื่อง เฉพาะหน้า หากแต่เป็นการสำรวจถึงความคาดหวังของสังคม ผมอยากจะใช้คำว่ามันสะท้อนถึง Social Hope หรือ ความหวังของสังคมอันเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเปลี่ยนแปลงของประชาชน สังคม และรัฐบาลใหม่ ฉะนั้นการสำรวจครั้งนี้ จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้รัฐบาลและสังคมได้มองเห็นว่าคนในสังคมไทยจำนวนเป็นแสนกำลังถักสานความหวังกันอย่างไร และการสำรวจครั้งนี้ผมคิดว่ามันน่าจะทำให้มีผลต่อการตกผลึกของอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน หมายถึงคนที่ตอบคำถามเหล่านี้ เขาจะต้องคิดแล้วว่าเป็นอย่างไร”

ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในกรณีของคำถามทางเศรษฐกิจ ตนคิดว่าชัดเจน มันมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งมีลักษณะของการให้รัฐบาลโน้มกายลงไปให้ เช่น แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือ คำถามที่กำลังจะมุ่งแก้ว่าในระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาจะแก้อย่างไร เช่น การลดต้นทุน หนี้สินครัวเรือน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ขณะเดียวกัน เราคงต้องคิดถึงการเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของชาวบ้านในมุมต่าง ๆ ด้วย ซึ่งถ้าหากเราตั้งคำถาม ในเรื่องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องนี้ โดยที่มีช่องปัญหาอื่น ๆ ตนคิดว่าโอกาสที่พี่น้องประชาชนจะตอบปัญหาอื่น ๆ ที่จะสะท้อนถึงการแก้ไขที่เป็นระบบ

“ผมคิดว่ามันน่าจะมีมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่โพลที่จะทำสำรวจความคิดเห็นที่จะทำนี้ ผมคาดหวังว่าจะทำให้เรามองเห็นว่าพี่น้องประชาชนคิดอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจ รู้สึกอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจที่เขากำลังดำรงอยู่ และเขาคาดหวังว่าทางเดินชีวิตของเขาในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ มันจะเดินไปอย่างไร ผมคิดว่าถ้าหากเราได้ ผลโพลออกมาแล้ว ผมเชื่อว่าเราจะมองเห็นตรงนี้ได้ชัดขึ้น และอยากจะย้ำว่าโพลครั้งนี้สำคัญในแง่ที่ว่ามันเป็นการทำให้รัฐบาล และสังคมมองเห็นว่าความหวังของสังคม เขาอยากเดินไปข้างหน้าอย่างไร โพลครั้งนี้จึงถือว่าสำคัญเป็นอิฐเป็นหินก้อนแรก ๆ ที่จะวางทางไปสู่การทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้น” ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว

สำหรับกิจกรรมการทำ “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” ครั้งนี้ เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือเดลินิวส์ และมติชน โดยจะเริ่มเปิดโหวตตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. 66.