นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งมีตัวแทนจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ.) บริษัทประกันวินาศภัย และผู้เกี่ยวข้อง ได้มีข้อสรุปการหารือเกี่ยวกับเกณฑ์การทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แล้วและหลังจากนี้จะมีการนำเสนอให้เลขาธิการ คปภ. หากเห็นชอบ จะออกประกาศบังคับใช้ต่อไป

“ประกาศดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความความชัดเจนให้การทำประกันรถอีวีมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการคิดเบี้ยประกัน ความคุ้มครองเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าและลดข้อพิพาทลงได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเกณฑ์มาตรฐานประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าใหม่นี้  จะทำให้ภาพรวมเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าเบี้ยรถยนต์สันดาปประมาณ 15- 30% ซึ่งเป็นอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยหากเป็นรถอีวีค่ายจีนจะสูงกว่า 15- 20% แต่ถ้าเป็นรถอีวีค่ายยุโรปจะสูงกว่า 30% แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ขับขี่มีประวัติการขับขี่ดีจะได้รับส่วนลดสูงสุดถึง 40% ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ขับขี่ดีจะซื้อเบี้ยประกันถูกลงกว่าเดิม และในอนาคตหากมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย รวมถึงมีผู้ใช้รถอีวีมากขึ้น  น่าจะทำให้ภาพรวมเบี้ยประกันรถอีวีถูกลงได้อีก ซึ่งคาดว่าเกณฑ์ใหม่จะเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 ม.ค.67

สำหรับสาระสำคัญเกณฑ์ประกันรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ มี  3 ประเด็น 1. กำหนดกรมธรรม์แบบโดยระบุชื่อผู้ขับขี่ แทนที่การใช้สถิติเฉลี่ย เพื่อจะเก็บสถิติประวัติของผู้ขับขี่ และสร้างแรงจูงใจให้ผู้เอาประกันที่ขับรถดี ในการจ่ายเบี้ยประกันที่ถูกลง  โดย รถหนึ่งคันระบุผู้ขับขี่ได้สูงสุด 5 คน เก็บประวัติตามชื่อผู้ขับ  ผู้ขับรถดีจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันสูงสุด 40% ส่วนผู้ที่มีประวัติการขับเฉี่ยวชนจะมีการคิดเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น

2.ความคุ้มครองแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จะคุ้มครองแบตเตอรี่อยู่ในวงเงินทุนประกันรวท แต่จะชดใช้ค่าเสียหายของแบตเตอรี่ตามค่าความเสื่อมสภาพ ซึ่งปัจจุบันการรับประกันของผู้ผลิต ตัวแบตเตอรี่เฉลี่ย 8 ปี ถ้าหากใช้ไปนานความคุ้มครองจะลดลงตามเช่น แบตเตอรี่ลูกละ 500,000 บาท หากใช้ไป 4 ปีความคุ้มครองเหลือแค่ 250,000 บาท แต่จะเพิ่มทางเลือกให้สามารถซื้อประกันคุ้มครองเพิ่มเติมตามอายุแบตที่ใช้ไปได้3.เรื่องหลักการอื่น ๆ  เช่น ถ้าพบการซ่อมหรือดัดแปลงแบตเตอรี่ โดยช่างที่ไม่ได้รับการรับรอง กรมธรรม์จะไม่คุ้มครอง รวมถึงหากมีการดัดแปลงซอฟต์แวร์ ทำให้ตัวรถทำงานผิดพลาดแล้วไปเกิดอุบัติเหตุ กรมธรรม์จะไม่ให้ความคุ้มครอง เช่นกัน