แต่ดูเหมือนว่าคำพูดเหล่านี้กลับไม่มีความหมายเท่าไรนักในสายตาของนักลงทุน เพราะทุกวันนี้ส่วนใหญ่ในตลาดเงิน ตลาดทุนยังคงเคลือบแคลงสงสัย ถึงที่มาของเงินทุนที่จะนำมาใช้ทำนโยบายหาเสียงต่าง ๆ อยู่ จนทำให้เกิดความกังวลใจสั่นสะเทือนไปทั่วตลาดหุ้น  ตลาดตราสารหนี้ และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนระทวย

เศรษฐกิจแย่รอไม่ได้

แต่จะว่าไปแล้วก็ต้องเห็นใจรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อยู่เหมือนกัน เพราะต้องเข้ามาบริหารประเทศท่ามกลางซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดก่อนที่แจกเงินเยอะ แต่กลับบริหารเศรษฐกิจให้โตต่ำกว่าศักยภาพน้อยที่สุดในอาเซียน คนไทยอยู่อย่างลำบาก รายได้เพิ่มน้อยกว่ารายจ่าย จึงจำเป็นต้องรีบปั๊มหัวใจให้เศรษฐกิจฟื้นคืนชีพเป็นการด่วน  โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายหาเสียงของเพื่อไทย เช่น การลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร ตลอดจนแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาท

“ถามว่าจำเป็นไหมที่รัฐบาลจะต้องออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คำตอบจากกูรูภาคเอกชนหลายสำนักฯ ก็ยกมือเชียร์ว่าจำเป็นต้องทำแน่นอน”

วินัยการคลังเริ่มจากติดลบ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่บีบคั้นเช่นนี้ แต่รัฐบาลก็ต้องเผชิญความท้าทายจากข้อจำกัดทางการคลังขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นปัญหางบประมาณเบิกจ่ายปี 67 ที่จัดทำล่าช้ากว่า 8 เดือน หลังเกมการเมืองยืดเยื้อมานาน ขณะเดียวกันต้องรับไม้ต่อปัญหาการขาดวินัยทาง การคลังจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับในช่วงโควิดใช้เงินไป 1.5 ล้านล้านบาท จนต้องทำลายเพดานหนี้สาธารณะ จากเดิมกฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 70% ของจีดีพี จากปัจจุบัน 61.69% 

ที่สำคัญแผนการก่อหนี้เงินนอกงบประมาณ ด้วยวิธีการให้หน่วยงานภาครัฐออกให้ก่อน ด้วยมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังก็ยังถูกรัฐบาลที่แล้วใช้เพลินจนล้นเพดาน จนต้องประกาศพังทลายวินัยทางการคลัง จากกำหนดไม่เกิน 30% ของงบประมาณ เป็น 35% และเหลือ 32% ในครั้งล่าสุด แถมเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังก็ถูกใช้จนเกลี้ยงบัญชี แถมมีเพดานสูงกว่าเพดานอีกด้วย ทำให้สภาพในการหาเงินของรัฐบาลชุดนี้เพื่อมาใช้ทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์แต่เริ่มมาจากการติดลบด้วยซ้ำ

ประเดิมเพิ่มขาดดุลแสน ล.

ดังนั้น ด้วยสถานะวินัยทางการคลังที่แย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่รัฐบาลจะตัดสินใจกู้เพิ่ม ขยายเพดานหนี้สาธารณะ หรือเพิ่มเพดานเงินมาตรา 28 หรือตั้งงบประมาณขาดดุล เพื่อมาใช้ทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นความเสี่ยงที่ทุกคนกำลังจ้องจับตาอย่างมาก เพราะอย่างที่รู้ว่านโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยล้วนต้องแลกมาด้วยเงินมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล วอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท โครงการพักหนี้เกษตรกรปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท มาตรการลดภาษีดีเซล 3 เดือนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท หรือการลดค่าไฟฟ้าอีก  จึงน่าสนใจว่าจะหาเงินมาจากที่ไหน

เอาแค่การประชุม ครม.นัดแรกของรัฐบาลเศรษฐาก็เล่นเอามีฮือฮาแล้ว เพราะมีการสั่งรื้อกรอบวงเงินงบประมาณปี 67 ใหม่แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เพิ่มรายจ่ายปีงบฯ 67 จาก 3.35 ล้านล้านบาท เป็น 3.48 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณรายได้รัฐบาลสุทธิอยู่ที่ 2.787 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้งบปี 67 รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท จาก 5.93 แสนล้านบาท เป็น  6.93 แสนล้านบาท และมีหนี้สาธารณะพุ่งทันทีเป็น 64%

เดินหน้าแจกรัว ๆ ไม่มียั้ง

จากนั้นไม่นานก็มีการออกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล และลดค่าไฟ 2 ครั้งติดรัว ๆ จนเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามมาติด ๆ ด้วยการพักหนี้เกษตรกร 2.7 ล้านคน แบบปีต่อปี สูงสุดไม่เกิน 3 ปี คิกออฟ 1 ต.ค.นี้ พร้อมปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูให้อีก 1 แสนบาท โดยนำเงินจากมาตรา 28 มาใช้อีก 1.2 หมื่นล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. ออกเงินให้ไปก่อน

กลายเป็นข้อกังขาว่า รัฐบาลจะรักษาวินัยการคลังอย่างไร เมื่อปากบอกว่าใช้แต่การกระทำกลับสวนทาง เข้ามาไม่ทันไรก็เพิ่มหนี้สาธารณะ รื้อแผนการคลังระยะปานกลาง แถมล่าสุดนายกฯ เศรษฐายอมรับรัฐบาลอาจจำเป็นต้องขยายกรอบการใช้จ่ายเงิน
นอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 32% ของงบประมาณ เพิ่มเป็น 45% ของวงเงินงบประมาณในปีงบ 67 เพื่อใช้รองรับนโยบายรัฐบาลในการดูแลประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

จ่อใช้ ม.28 สนองรัฐ

หากนำแผนขยายการใช้เงินมาตรา 28 ตามที่นายกฯ บอกมาคำนวณเล่น ๆ โดยยึดโจทย์งบรายจ่ายปี 67 ที่ 3.48 ล้านล้าน  มาคูณด้วยเพดานหนี้ที่เพิ่มเป็น 45% ก็จะเท่ากับ 1.56 ล้านล้าน เมื่อหักลบหนี้ในมาตรา 28 ที่มีอยู่ปัจจุบัน 1 ล้านล้านบาท  และแผนใช้หนี้จากงบปี 67 อีก 1 แสนล้านบาท ก็จะเท่ากับเหลือช่องให้รัฐบาลใช้เงินจากมาตรา 28 ไปใช้จ่ายทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มทันที 5-6 แสนล้านบาททันที

แต่แม้วิธีนี้ไม่ได้เป็นการกู้โดยตรง หรือทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่เหมือนเป็นการเลี่ยงบาลีทางอ้อม ซึ่งท้ายที่สุดก็ย่อมกลายเป็นภาระหนี้ต่องบประมาณในระยะยาวอยู่ดี เพราะรัฐบาลต้องมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาใช้หนี้คืนให้กับสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ออกเงินให้ไปใช้ก่อน โดยสมมุติว่ารัฐบาลถ้ามีการตั้งงบประมาณเพื่อใช้หนี้ตามมาตรา 28 เฉลี่ย
ปีละ 1 แสนล้านบาทเหมือนปัจจุบัน ก็จะทำให้รัฐบาลใช้เวลาถึง 15 ปีกว่าจะเคลียร์หนี้มาตรา 28 หมดทั้ง 1.5 ล้านล้านบาท 

บอนด์ยีลพุ่งหุ้นดิ่ง

อย่างไรก็ดี ความไม่ชัดเจนของที่มาของแหล่งเงิน และวิธีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล ณ วันนี้ กลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลเศรษฐาในสายตาของนักลงทุนอย่างมาก เห็นได้ชัดจากงาน มาร์เก็ต ไดอะล็อก ที่นักลงทุนแสดงความกังวลว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังออกพันธบัตรมากเกินไปจนอาจเผชิญภาวะล้นตลาดได้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี พุ่งสูงสุดในรอบปีทะยานไปแตะที่ระดับ 3.24% สูงสุดของปี ภายหลังกระทรวงการคลังได้วางแผนเตรียมออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบ 67 สูงถึง 1.25 ล้านล้านบาท มากกว่าปีก่อนถึง 1.6 แสนล้านบาท 

แม้ทางกระทรวงการคลังจะชี้แจงว่าการออกพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้ออกมากจนเกินไป จนทำให้เกิดภาวะล้นตลาด และมีปริมาณที่เหมาะสมอยู่ และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ปรับตัวสูงนั้น ก็เกิดจากหลายปัจจัยไม่ได้มาจากเรื่องการออกบอนด์เยอะเพียงอย่างเดียว เช่น เป็นผลจากการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ  บอนด์ยีลนอกประเทศที่ราคาขึ้นสูง จนทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนประเทศอื่น

เมื่อหันไปมองดูตลาดหุ้นก็ยิ่งสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นเข้าไปอีก เพราะหุ้นไทยสาละวันเตี้ยลงอย่างน่าตกใจ หลุดต่ำกว่า 1,500 จุดไปแล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญจากความไม่เชื่อมั่นในการบริหารรัฐบาล โดยเฉพาะความคลุมเครือในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแหล่งที่มาของเงิน ทำให้นักลงทุนต่างชาติต่างเทขายหุ้นออกมาจนส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงรุนแรงทะลุ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐตามกันไป

ผวามูดี้ส์หั่นเครดิต

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งก็เริ่มมีความกังวล บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส อาจมีการทบทวน การจัดอันดับเครดิตประเทศไทยที่ปัจจุบันคงไว้ที่ “Baa1” และ outlook “Stable” ใหม่ ซึ่งแม้มองว่าการถูกลดเครดิตเรตติ้งของไทยคงเกิดขึ้นยาก เพราะไทยยังมีสถานะเป็นเจ้าหนี้กับต่างชาติ และระดับเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไทยเองอาจถูกปรับลดมุมมองเสถียรภาพลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับวินัยการคลัง รวมถึงแผนการก่อหนี้ที่สูงขึ้น และแผนการบริหารหนี้ไม่ชัดเจน  โดยเฉพาะการทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มต่อเนื่อง จนอาจทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มจาก 62% ไปเป็น 69.6% ในปี 69 ได้

ถึงวันนี้ก็ยังเป็นแค่เพียงอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ เท่านั้น ยังหาบทสรุปไม่ได้ว่ารัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนมาใช้ หรือได้เงินแล้วจะแจกให้ประชาชนไปใช้อย่างไร เพราะล่าสุดเส้นตายที่นายกฯ เศรษฐา เคยบอกว่าต้องมีความชัดเจนเรื่องแหล่งเงินใน 10 วัน ก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะจะต้องรอคำตอบผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะเสนอแต่งตั้งกรรมการใน ครม.สัปดาห์นี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบยิ่งขึ้น

คิดให้ดีก่อนใช้เงิน

แต่อย่างไรแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้แนวทางใด การเพิ่มหนี้สาธารณะก็ดี การใช้มาตรา 28 ก็ดี หรือวิธีอื่นก็ดี เพื่อแลกกับการจุดระเบิดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้ ก็นับเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ของประเทศ หลังจากรัฐบาลชุดที่แล้วใช้เงินไปมหาศาล ทั้งประกันรายได้ บัตรคนจน หรือมาตรการแจกอื่น ๆ แต่ก็สอบตกไม่ช่วยให้จีดีพีเติบโตได้เกิน 2-3% เลยแถมกลายเป็นภาระหนี้ของประเทศในระยะยาว

ดังนั้น หากรัฐบาลชุดนี้ต้องการเดิมพันด้วยการทุบวินัยการคลัง หว่านเงินไปอีก 5-6 แสนล้านบาทอีกครั้ง ก็ต้องคิดให้ดี หากผลลัพธ์ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจกลับฟื้นคืนได้อย่างที่หวังไว้ เงินไม่หมุน 4 รอบ 2.2 ล้านล้านบาท จีดีพีโตไม่ถึง 5% เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 3 หมื่นล้านบาทตามเป้าแล้ว

ก็อดห่วงไม่ได้ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อฐานะการคลังในระยะยาวมากทีเดียว เพราะเท่ากับภาระทางการคลังจะมีปัญหาหนักยิ่งกว่าเดิม จึงเป็นเรื่องที่นายกฯ เศรษฐา ต้องคิดให้ถี่ถ้วน ลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด เพราะขณะนี้ฐานะทางการคลังพลาดไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งหากผิดพลาดซ้ำอาจกลายเป็นชนวนให้สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมาได้ในอนาคต.

ทีมเศรษฐกิจ