รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) แจ้งว่า ขณะนี้ กทพ. ได้เสนอแผนการดำเนินงานสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท โครงการทางพิเศษ(ด่วน) สายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท ต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เพื่อขอรับนโยบายว่าจะให้ดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางในรูปแบบไร้ไม้กั้น(M-Flow) 100% หรือไม่ หรือให้ผสมผสานระหว่างช่องเก็บเงินสด และ M-Flow ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.66 เพื่อเปิดประกวดราคา(ประมูล) หาผู้รับจ้างดำเนินงานในสัญญาที่ 5 ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เบื้องต้น กทพ. วางเป้าหมายว่า จะเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลให้ได้ในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ และจะใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะผู้รับจ้างจะเริ่มงานสัญญาที่ 5 ได้ประมาณต้นปี 67 โดย กทพ. จะเร่งรัดในขั้นตอนการติดตั้งระบบ เพื่อให้ทันกับการเปิดให้บริการทางด่วนสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ตลอดเส้นทาง ประมาณปลายปี 67 หรือต้นปี 68 อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ 4 สัญญานั้น มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีความคืบหน้าประมาณ 66.69% เร็วกว่าแผน 2.71%

โดยสัญญาที่ 1 งานสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 49.02% เร็วกว่าแผน 2.38%, สัญญาที่ 2 งานสร้างทางยกระดับจากเซ็นทรัลพระราม 2- รพ.บางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. มีกิจการร่วมค้า ซีทีบี เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 80.00% เร็วกว่าแผน 3.18% สัญญาที่ 3 งานสร้างทางยกระดับจาก รพ.บางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี เป็นผู้รับจ้าง งานก่อสร้างคืบหน้า 50.20% เร็วกว่าแผน 3.56% และสัญญาที่ 4 สะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง งานก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า กทพ. ยังคงคุมเข้ม และกำชับเรื่องมาตรการความปลอดภัย ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกลงมาเกือบทุกวัน โดย กทพ. สั่งห้ามทำงานในช่วงที่มีฝนตก เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะงานที่ทำอยู่ด้านบน และมีรถยนต์สัญจรไปมาอยู่ด้านล่าง อาทิ สัญญาที่ 3 ที่อยู่ระหว่างทำทางด่วน 2 ชั้นคร่อมทางด่วนเดิม ทำให้การดำเนินงานก่อสร้างช่วงนี้อาจล่าช้าไปบ้าง ส่งผลกระทบให้การเปิดใช้งานสะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาล่าช้าตามไปด้วย ซึ่งเดิมมีแผนจะเปิดให้บริการประมาณเดือน มี.ค.67 ต้องขยับออกไปเป็นประมาณเดือน พ.ค.67 เพราะต้องรอการก่อสร้างทางขึ้น-ลงบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ของสัญญาที่ 3 ให้แล้วเสร็จก่อน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) ก่อสร้างเป็นสะพานขึง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 8 ช่องจราจร เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย 42 เมตร มีความยาวช่วงกลางสะพาน (Mid Span) 450 เมตร และมีความยาวสะพาน 780 เมตรข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สิ้นสุดโครงการฯ ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ โดยจะเชื่อมต่อกับทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางด่วนศรีรัช ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ระยะทางรวมประมาณ 2 กม.