เคยอ่านพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าชนะมารไหม… 

สมัยตอนเป็นสามเณรเรียนพุทธประวัติแบบท่องจำ ไม่รู้ว่าจะนำเอาเรื่องราวในพุทธประวัติที่เรียนมาใช้กับชีวิตได้อย่างไร เคยได้ยินแต่ครูบาอาจารย์ที่สอนเล่าให้ฟังว่า “พุทธประวัติไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประวัติพระพุทธเจ้าให้เราได้เรียนเท่านั้น แต่พุทธประวัติยังแฝงไปด้วยแง่คิด การดำเนินชีวิต หลักธรรม ตัวอย่าง และกรณีศึกษาในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถนำประยุกต์ใช้ในชีวิตของเราได้”  

ตอนนั้นก็ฟังไปอย่างนั้น ยังไม่รู้ว่าพุทธประวัติที่เรียนแบบท่องๆ อยู่นี่ จะเป็นประโยชน์กับเราได้อย่างไร นอกจากจำไปตอบข้อสอบในการสอบนักธรรม ซึ่งเป็นการวัดผลความรู้ของพระภิกษุสามเณรที่บวชเรียน มาจนถึงวันที่ต้องไปปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทั้งในส่วนบุคคล องค์กร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เมื่อชีวิตของเราได้ไปพบเรื่องราว ปัญหา อุปสรรค พบปะผู้คนมากมายหลากหลายอารมณ์ จึงเป็นวันที่ได้นึกถึงเรื่องราวพุทธประวัติที่เคยเรียนสมัยเป็นสามเณร หลายตอนในพุทธประวัติ ได้สะท้อนมุมมองชีวิต ไม่ว่าจะเป็น “วิธีคิด” หรือ “วิธีการจัดการและแก้ปัญหา” ของพระพุทธเจ้า  

อย่างในวันที่พญามารจะเข้ามาประหัตประหารจะเอาชีวิตของพระพุทธเจ้า ด้วยกำลังพลที่มาก และอาวุธพร้อมในมือ ซึ่งตรงข้ามกับพระพุทธเจ้า ที่นั่งอยู่ใต้ต้นไม้เพียงพระองค์เดียว แม้ว่าพระองค์จะเป็นพระราชโอรสของพระราชา แต่ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าทรงสละความสุขส่วนตัว เพื่อออกแสวงหาทางออกจากทุกข์ ละทิ้งความสะดวกสบายของการเป็นองค์ชาย ไม่มีราชองครักษ์คอยดูแลช่วยเหลือ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงหวั่นไหวพระทัยต่อการเข้ามาเพื่อเอาชีวิตของพญามาร ด้วยมองไม่เห็นผู้ใดที่จะช่วยพระองค์ในตอนนั้น มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงมองเห็นว่าจะสามารถเป็นที่พึ่งของพระองค์ได้ในยามนี้ นั่นก็คือ “ความดี” ที่ทรงบำเพ็ญมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน พระองค์มั่นใจว่า “ความดี” ที่ได้ทรงกระทำมานั้นแหละ จะสามารถช่วยพระองค์ในครั้งนี้ได้ จึงตั้งจิตอธิษฐานนึกถึง “ความดี” ที่ได้ทรงกระทำมา จนสามารถเอาชนะพญามารที่คิดจะทำร้าย ทำลายชีวิตของพระองค์สำเร็จ จนมีการสร้างพระพุทธรูปปางหนึ่งขึ้นมา เป็นปางนั่งสมาธิ พระหัตถ์วางบนพระเพลา ชี้พระดรรชนีลงพื้นดิน เรียกว่า “ปางมารวิชัย”  

ในอีกแง่หนึ่ง ตีความได้ว่า“มาร” ก็คือกิเลส ได้แก่ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความหลง) ที่มารบกวนพระทัยพระองค์ในขณะนั่งสมาธิ เสนามาร ก็คือกิเลสเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นบริวาร ของโลภะ โทสะ โมหะ การที่ทรงผจญมารก็คือ ทรงต่อสู้กับอำนาจของกิเลสเหล่านี้นั่นเอง 

การที่ใครสักคนหนึ่งสามารถเอาชนะจิตใจของตนเองได้ เมื่อจิตใจคิดไปในการที่เป็นอกุศล ในทางเสียๆ หายๆ แต่ยังสามารถดึงเอา “ความดี” ที่อยู่ในหัวใจ ออกมาทำหน้าที่ “ย้ำเตือน” ให้มีความหนักแน่นใน “ความดี” ที่ตัวเราได้ทำ และสามารถเอาชนะ “ความชั่ว” ด้วยการข่มใจ ไม่ให้หวั่นไหวไปกับสายลมแห่งอกุศล แล้วบอกกับตัวเองทุกครั้งที่กำลังจะพ่ายแพ้ต่ออกุศลว่า “เราจะสู้กันจนถึงที่สุด”  

…วันหนึ่งขณะสอนพุทธประวัติลูกศิษย์ในตอนผจญมารว่า พระพุทธองค์ทรงมีความหนักแน่นในพระทัยมากเพียงใด เด็กนักเรียนชายคนหนึ่ง ยกมือแสดงความคิดเห็นว่า “ผมคิดว่าใจของผมคงไม่หนักแน่น เหมือนพระพุทธเจ้าแน่ โดยเฉพาะตอนที่พญามาร ส่งลูกสาวสามคนมารบกวนพระพุทธเจ้า ผมอาจตกเป็นลูกเขยของพญามารไปแล้วก็ได้ครับ” 

 ใครที่ไม่หนักแน่น อาจเป็นลูกเขยพญามาร เหมือนลูกศิษย์คนนี้แน่ๆ 

พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี 

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจาย วรวิหาร 

ประธานสำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมาราม จ.สระแก้ว