ผลงานการคว้า 6 เหรียญทอง และ 3 เหรียญเงิน การประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “E-NNOVATE 2021 International Innovation Show”  ที่สาธารณรัฐโปแลนด์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ นับเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของศูนย์นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ได้เป็นอย่างดี     

สำหรับผลงานฝีมือ “นวัตกรรุ่นเยาว์” จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่ไปประกาศศักดาบนเวทีการประกวดระดับโลกจนสามารถกวาดรางวัลมาได้ในครั้งนี้  ประกอบด้วย 6 เหรียญทอง คือ 1.ปากกาต่อต้านโรคระบาด 2.ระบบห้องน้ำอัจฉริยะระเบิดความสนุกสำหรับชีวิตวิถีใหม่ 3.ชุดหมอนลดการนอนกรนเพื่อปรับสมดุลให้การนอนหลับมีคุณภาพและปลอดภัยที่สุด 4.โปรแกรมฝึกคลื่นสมองด้วยเทคนิคสะท้อนกลับ ป้องกันสมองเสื่อมและลดปัญหาความรุนแรงจากสมาธิสั้น 5.คิดส์เพลิน และ 6.ชุดอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายในผู้ป่วยติดเตียง

ส่วน 3 เหรียญเงิน ประกอบด้วย 1.ไอจีแมสก์สำหรับพูด 2.ชุดฝึกสมองและกระตุ้นพัฒนากล้ามเนื้อมือสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและเด็กออทิสติก และ 3.อุปกรณ์จัดท่าทางการนั่งและการยืน เพื่อลดปัญหาออฟฟิศซินโดรม

อาจารย์จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์

นายจีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ ประธานศูนย์นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม เล่าว่า กว่า 7 ปีแล้วที่มีการตั้งศูนย์นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความรู้และทักษะใหม่ๆ หรือวิชาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งส่งเสริมทัศนะเชิงบวกต่อโลกและชีวิต ความคิดอ่านก้าวหน้าที่มองหาทางออกเป็นนิสัยและความเป็นไปได้อยู่เสมอ หัวใจสำคัญของการปั้นนวัตกรคือความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนและครู และตระหนักถึงความต่างระหว่างนักเรียนแต่ละคน โดยศูนย์ฯ มีหน้าที่เสริมส่งความฝันของนักเรียนให้เป็นรูปธรรม ซึ่งรางวัลครั้งนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าศูนย์ฯ และโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มาถูกทางแล้ว

 “นวัตกรรมที่ได้รับรางวัลเป็นผลจากการปฏิรูปวิธีการเรียนรู้ โดยครูจะปล่อยให้นักเรียนเป็นคนเริ่ม ‘คิด’ กำหนดโจทย์เอง ครูเพียงคอย ‘ร่วมมือ’ ฟังการ ‘แก้’ โจทย์และแนะนักเรียนหาวิธีแก้โจทย์เองตามแต่จินตนาการของแต่ละคน ซึ่งครูจะย้ำเสมอให้นักเรียนค้นหาวิธีการแก้โจทย์มากกว่าหนึ่งวิธีเสมอ ที่เหลือคือการ ‘สร้าง’ ชุดความรู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานเพราะต้องสำรวจ รวบรวมข้อมูลที่มีเดิมมาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกับวิธีที่ตัวเองพบโดยระวังการละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น” อาจารย์จีระศักดิ์ บอกถึงกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ

ศูนย์นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม พร้อมให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่สนใจปฏิรูปการเรียนรู้ตามแนวทางเดียวกัน รวมทั้งให้คำปรึกษาหรือประสานความช่วยเหลืออื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ผู้สนใจติดต่อมาได้ที่ ศูนย์นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้ที่ เพจเฟซบุ๊ค : Satit Chula Innovation Hub หรือ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม