เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ผศ.ดร.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และประธานคณะกรรมการสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล พร้อมด้วย รศ.ดร.โอภาส กิจกำแหง คณะบดีคณะบริหารธุรกิจ STC ร่วมเปิดสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล (Siam Techno Poll) โดยมี อาจารย์วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและนักกฎหมายอิสระ , ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Science , รศ.ดร.พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารเครือข่าย ดิจิทัล , ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษาและอาจารย์หลักสูตร Cybersecurity (CalCes)

ด้าน อาจารย์วีรพัฒน์ กล่าวว่า นโยบายแจกเงินจิทัล 10,000 บาทถือเป็นนโยบายกระเป๋าหิน เนื่องจากมีความเสี่ยงและไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนไหนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ทั้งยังใช้เงินมหาศาล ใช้ในรูปแบบที่ไม่เคยมีการทดสอบ ใช้ในรูปแบบที่มีช่องโหว่เต็มไปหมด และใช้ในลักษณะที่ทำให้ประชาชนตื่นเต้น และคาดหวัง แต่ไม่แปลกใจว่าทำไมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัจะฐมนตรี จะกล้าทำกระเป๋าหินนี้ เพราะบุคลิกและวิธีคิดที่ไม่เหมือนนักการเมืองท่านอื่น ซึ่งหวังว่ากระเป๋าหินนี้ จะเป็นกระเป๋าที่ไม่ฉุดรัฐบาลลง แต่จะเป็นกระเป๋าหินที่คว้างให้ปัญหาออกไปไกลๆ นอกจากนี้นโยบายดังกล่าว จะมีสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ และมีคำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ที่อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะในการปฎิวัติครั้งก่อน มีชื่อเป็นประธานและคณะกรรมการในยุทธศาสตร์ ซึ่งทำให้นโยบายดังกล่าวอาจจะขัดกับยุทธศาสตร์และถูกคัดค้านได้อีกด้วย

ด้าน ดร.ธรรม์ธีร์ กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีทำนโยบายนี้ ถือว่ามีคุณสมบัติ 3 องค์ประกอบ คือ 1.ล้ำยุค ล้ำสมัย 2.ด้านการตลาด ในผู้คนสนใจ และ 3.ด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถือเป็นไฟท์บังคับที่รัฐบาลจะต้องทำให้ได้ และจะเป็นการยากต่อการยกเลิก ซึ่งหากเปรียบเทียบนายเศรฐา เป็นนักธุรกิจ ที่เข้าทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจจะมีการตั้งเป้า โดยส่วนใหญ่ใช้ผลวิจัยเพื่อให้ธุรกิจสำเร็จ แต่พอมาเป็นนักการเมืองกระบวนการในการทำธุรกิจก็หลงลืมไป และหากเป็นด้านธุรกิจ เสียงตอบรับ 1 เสียงของลูกค้า นั้นมีค่าและต้องรีบกลับมาปรับปรุง แต่พอมาเป็นนักการเมือง กลับไม่มีการฟังเสียงประชาชน ดังนั้นรัฐบาลไม่จำเป็นต้องทำตามที่พูดทั้งหมด แต่ให้ทำตามเสียงประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง เชื่อว่าจะทำให้ทุกนโยบายสามารถประสบความสำเร็จได้หากฟังเสียงประชาชนและนำมาแก้ไขปรับปรุง

ด้าน ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือ จะถูกกฎหมายหรือไม่ กับการที่นำเงินการจ่ายภาษีของคนจำนวนมากมาแจก เป็นมูลค่ามหาศาล และการที่เงินดิจิทัล จะเข้ากระเป๋าเงินประชาชน 50 ล้านคนนั้นทำให้มีความเสี่ยงที่จะไม่มีความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ เช่น กรณีที่เคยมีหมอถูกหลอกให้สูญเงินจำนวนหลายหลักร้อยล้านบาท ซึ่งตนที่มีหน้าที่เป็นคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ จากการลงพื้นที่ ทั้งหมด 77 จังหวัด 1,878 สถานีตำรวจทั่วประเทศ ยอดที่มีประชาชนที่ถูกหลอกทางไซเบอร์ กว่า 30,000 คดี และยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นคดี หรือที่ยังไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ และหากรัฐบาลได้ประกาศว่าจะมีการโอนเงินจริงก็ถือเป็นสิ่งที่หน้าเป็นห่วง สำหรับจุดอ่อนของความปลอดภัยไซเบอร์ มาจากอุปกรณ์มือถือกว่า50 ล้านเครื่องที่จะโหลดแอพ อาจจะมีเฟิร์มแวร์ที่ทำให้เป็นช่องโหว่ ภัยคุกคาม ทั้งการติดตั้ง การตรวจเช็ค และล้างเครื่องฯ

โดยมีวิธีแนะนำให้เลือกใช้ คือการโอนเงินดิจิทัลเข้าทางบัตรประชาชน และให้ทางร้านค้าผู้ประกอบการมีตัวอ่านข้อมูลบัตรประชาชน ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยกว่าให้ประชาชนโหลดแอพใช้เอง โดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่ผลสำรวจจากสำนักวิจัยสยามโพลฯ เสียงประชาชนต่อเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หัวข้อ “ใครได้ใครเสีย” ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มคนได้รับประโยชน์จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 3 ลำดับแรก ได้แก่ประชาชนชาวบ้านทุกระดับรายได้ตามเกณฑ์อายุที่กำหนด ร้อยละ 51.27 , ชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 48.28 , รัฐบาลได้คะแนนนิยมจากประชาชน ร้อยละ 43.22 ฯ

2.ข้อกังวลต่อผลกระทบจาก มาตราการแจกเงินดิจิทัล 3 ลำดับแรก ได้แก่ ประชาชนผู้ยากไร้ ห่างไกลเทคโนโลยี ชายแดน ชายขอบ ร้อยละ 53.89 , การทุจริตเชิงนโยบาย คนเฉพาะกลุ่มได้ประโยชน์ ร้อยละ 43.04 , เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง หน่วยงานรัฐควบคุมไม่ได้ ร้อยละ 41.95 ฯ

3.รัฐบาลควรปรับปรุง หรือ เดินหน้าต่อนโยบายแจกเงินดิจิตอล 3 ลำดับ แรกได้แก่ เดินหน้าต่อ ไม่ต้องปรับปรุง ร้อยละ 40.78 , เดินหน้าต่อแต่ควรปรับปรุง ร้อยละ 32.82 , ไม่มีความเห็น ร้อยละ 26.40 ฯ

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.โอภาส กิจกำแหง คณะบดีคณะบริหารธุรกิจ STC ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวว่า จะมีการเสวนาในประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวกับ ประชาชน โดยทางสำนักวิจัยสยามอย่างต่อเนื่อง