เมื่อวันที่ 2 เม.ย. รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในเวทีรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 ว่า ไทม์ไลน์งบประมาณของ สปสช.ปีนี้ถือว่ามีความล่าช้า ซึ่งอาจจะอ้างได้ว่าเพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่นี่ผ่านไปครึ่งปีแล้ว อยากให้เห็นใจหน่วยบริการต่างๆ โดยเฉพาะคลินิกจะประสบปัญหาการเงิน ดังนั้น จึงฝากดูด้วยว่าในปีถัดๆ ไปขอให้เริ่มเร็วกว่านี้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของงบฯ ค่าใช้จ่ายบัตรทอง เพิ่มจาก 154,000 ล้านบาท เป็น 217,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่งบรายหัวก็เพิ่มขึ้น 20% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มีการจัดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ต้นทุนทั้งคน และอุปกรณ์ต่างๆ  ดังนั้นเงินที่เพิ่มขึ้น ฟังแล้วดูดี ถ้าไม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วย แต่การเพิ่มสิทธิประโยชน์นั้นประชาชนไม่ผิด แต่จะทำอย่างไรให้อยู่กันได้ คือคำนึงถึงประชาชน และให้ความเป็นธรรมกับสถานพยาบาล

ทั้งนี้ เมื่อดู รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป จะได้งบฯ จากกรมบัญชีกลาง 10,800 บาท ได้จากสำนักงานประกันสังคม 12,000 บาท และสปสช. 8,300 บาท ซึ่งสมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นรมว.สาธารณสุข ซึ่งทราบความเดือดร้อนของ รพ.จึงพยายามหางบฯ มาให้กว่า 5 พันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหา รวมถึงงบเหมาจ่ายรายหัวตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ไว้ในช่วงต้นปี ราวๆ 8-9 พันล้านบาท พอมาถึง ส.ค.-ก.ย. ก็เหลือประมาณ 2-3 พันล้านบาท และยังมีงบฯ สำรองอีกประมาณ100 ล้านบาท ตอนหลังน้อยลงเรื่อยๆ จึงต้องฝากสปสช.ดูตรงนี้ว่าใครต้องแบกรับ เช่น โรงเรียนแพทย์ แถวกระทรวงการต่างประเทศ แบกรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วย ประมาณ 500-700  ล้านบาท โรงเรียนแพทย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แบกรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน 1.5-2 พันล้านบาทต่อปี เพราะ สปสช.ให้งบมาเท่านั้น และบีบไปหมด

“ตอนนี้ไม่ระเบิด แต่อีก 3-5 ปี จะระเบิดแรงขึ้น เพราะเห็นประกาศต้นเดือนนี้ กรมบัญชีกลางกำหนดลิมิตค่าใช้จ่ายด้านยาหลายรายการ ฉะนั้น รพ.โดยเฉพาะภาครัฐจะไม่มีมารองรับ และหลายอย่างจะระเบิดออกมา ดังนั้นความท้าทายของกองทุน สปสช. คือทำอย่างไร ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ได้” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว และว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการปรับทุก 3-5 ปี แล้วมาคุยกัน อย่าปล่อยให้หน่วยบริการต้องเป็นหนี้แล้วเกิดภาพบุคลากรมาชุมนุมประท้วงอีก

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้สมาคมมะเร็งได้ส่งจดหมายร้องเรียนเพราะถูกบีบให้จ่ายยารักษามะเร็ง ทำให้แพทย์ถูกร้องเรียกเงินคืน เป็นการทำลายขวัญกำลังใจคนทำงาน จนส่งผลให้ไหลออกนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า รพ.เอกชนหายไปจากระบบเยอะ เหลือแค่คลินิกเอกชน ซึ่งไม่รู้ว่า จะหายไปหรือไม่ ซึ่งการจ่ายเงินตามโมเดล 5 จึงเป็นตัวอย่างที่ดี หรือกรณีค่ายาท่านจ่ายให้เพียง 85% ทำให้ต้องมาเคลียร์กัน ซึ่งของเก่าตั้งแต่ปี 2566 จนถึงตอนนี้ก็ยังเคลียร์ไม่จบ ยังไม่จ่าย ดังนั้นในการทำงานขอให้ทำไปข้างหน้า ถ้าทำย้อนก็ไม่เกิดการพัฒนา เพราะมัวแต่มาเคลียร์การบ้านกัน รวมถึงกรณีวัคซีนพิษสุนัขบ้า ปี 2562 จ่ายให้เป็นเงินจ่ายเป็นยา แต่ปี 2567 กลับปัดเข้าไปอยู่ในค่าใช้จ่ายรายหัว โดยไม่มีการสื่อสาร ไม่ตกลงกันก่อน

“ต้องฝากว่า เมื่อทำงานกับคนหมู่มากการสื่อสารคือสิ่งสำคัญที่จำทำให้เกิดความเช้าใจ และเชื่อมั่น ใครมาเป็นผู้นำต้องสื่อสารให้เยอะไม่ควรให้หน่วยบริการรับภาระ อีกกรณีคือประกาศข้อ 34 ระบุว่า ลดความเสี่ยงของหน่วยงบริการ เช่น อุปกรณ์การแพทย์ แต่การกระทำกลับย้อนแย้ง เพราะปีที่แล้ว หมวด 4 โรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หน่วยบริการเงินหายไป 30 % ดังนั้น หาก สปสช.ไปต่อของราคาถูกมา ต้องมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป เพื่อให้เราได้ทราบ ได้เคลียร์สต๊อก และระบบไอทีรองรับ ย้ำว่า คุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนสีย ไม่ใช่คุยกันเอง” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว และว่า  นอกจากนี้ ในเอกสารเขียนว่า เงินที่เหลือ หรือได้รับคืนมาในกรณีใดๆ สามารถโยกไปได้ตามระเบียบปี 2558 ดังนั้น สปสช.ควรสื่อสารว่าทำอะไรไปบาง แล้วโยกไปตรงไหน เพราะเลขาฯ สปสช. สามารถโยกได้ครั้งละ 200 ล้านบาท เรื่องนี้หน่วยบริการมองอยู่ ที่เตือนเพราะท่านจะได้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา

ส่วนเรื่องการส่งต่อระหว่างเขต 1-12 มีตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เหมือนกันหมด แต่ไม่ได้เขียนว่า เขต 1-12 ส่งมายัง กทม. เขต 13 นั้นจะทำอย่างไร ราคาเท่าไหร่ ซึ่งหาในประกาศฯ 10 ฉบับก็ไม่มี ดังนั้นฝาก สปสช.ดูตรงนี้ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน ง่ายต่อการทำงาน ไม่อย่างนั้น หากนั่งคิดกันเองก็จะเป็นปัญหา ทั้งนี้คิดว่า เราสามารถก้าวไปด้วยกันได้ 11 องค์กรผู้ให้บริการด้านสุขภาพนั้นยินดีอยู่แล้ว

ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กล่าวว่า ตนขอเสนอ 7 เรื่องสำคัญคือ 1.การจ่ายค่าบริการต้องสะท้อนต้นทุนจริงในทุกบริการ 2.การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ต้องมีแหล่งเงินที่ชัดเจน ไม่ใช่งบเหมาจ่ายรายหัวเท่าเดิม  3.อัตราหรือราคาที่ประกาศแล้ว ห้ามปรับแก้ลดลงระหว่างปี จนกว่าจะผ่านอนุกรรมการ 4.ลดสัดส่วนกองทุนเฉพาะโรค จากที่ปัจจุบันกำหนดไม่เกิน 12% หรือ 15% ของงบฯ เหมาจ่ายรายหัว ให้เหลือน้อยกว่า 5% ให้เอาเฉพาะเรื่องที่สำคัญและจำเป็นจริงๆ 5.กรณีมีการให้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ให้ดำเนินการเหมือนกันในทุกกองทุน โดยเกลี่ยจากกองทุนย่อยอื่น หรือใช้จากกองทุนที่รายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม หรือของบกลางเพิ่มจากรัฐบาล ถ้ายังไม่พอ ขอให้บันทึกบัญชี สปสช.เป็นลูกหนี้ของหน่วยบริการ แล้วตั้งเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายที่ สปสช.ต้องตามจ่ายหนี้ให้หน่วยบริการในปีถัดไป  

6.สปสช.ต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลในการซื้อบริการให้ประชาชน ไม่ใช่ซื้อข้อมูลอย่างตอนนี้ เพราะแม้หน่วยบริการให้บริการไปแต่ข้อมูลไม่ตรงก็ไม่จ่ายเงิน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มภาระงาน เกิดภาวะหมดไฟ ดังนั้น รพ.ควรใช้ชุดข้อมูลเดียวในการเบิกจ่ายทุกกองทุน ส่วนการตรวจสอบการโกง สปสช.ต้องหาวิธีอื่น อย่าโยนภาระให้หน่วยบริการ และ 7.สปสช.ควรปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุน โดยกระจายอำนาจจาก สปสช.ไป สปสช.เขต.