เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเดินหน้านโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครูเป็นอย่างมาก เพราะหากครูไม่ต้องกังวลกับการเป็นหนี้ก็จะทำให้มีความสุขกับการสอนตามนโยบายเรียนดีมีความสุขอย่างแท้จริง โดยในส่วนของ สพฐ.ขณะนี้ได้มีการสำรวจข้อมูลครูที่มีหนี้สินแล้ว

ซึ่งมีรายงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพฐ.แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าราชการประจำการ จำนวน 371,884 คน  และกลุ่มข้าราชการบำนาญ จำนวน 315,337 คน โดยในจำนวนนี้มีข้อมูลสถานะทางการเงินที่ถูกฟ้องดำเนินคดีเรื่องหนี้สินทุกกรณี แบ่งเป็น กลุ่มข้าราชการประจำการ จำนวน 1,464 คน และกลุ่มข้าราชการบำนาญ  1,400 คน รวม 2,864 คน ขณะที่กลุ่มเงินเดือนคงเหลือน้อยกว่า 30% แต่ไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีหนี้สินทุกกรณี แบ่งเป็น กลุ่มข้าราชการประจำการ จำนวน 41,095 คน และกลุ่มข้าราชการบำนาญ 67,445 คน รวม 108,540 คน

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้หลังจากได้สรุปข้อมูลตัวเลขหนี้ครูสังกัด สพฐ.กลุ่มต่างๆ แล้วจากนั้นจะนำไปสู่การวางแนวทางแก้ไขปัญหา โดยข้อมูลหนี้ครู สพฐ.จะอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อจะวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดต่อไป  อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ สพฐ.จะมีสถานีแก้หนี้ครูประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แล้วก็ตาม แต่ตนมองว่ายังไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ตนได้ตั้งศูนย์แก้หนี้ครูของ สพฐ.จากส่วนกลาง และยังไม่เคยมีการตั้งมาก่อน โดยศูนย์แก้หนี้ครู สพฐ.จากส่วนกลางนี้ จะเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงประสานงานระหว่างเขตพื้นที่และส่วนกลาง เพื่อจะเอาข้อมูลหนี้ครูจากเขตพื้นที่มาช่วยแก้ปัญหา เพราะบางเรื่องเขตพื้นที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สพฐ.ก็ต้องลงไปช่วยดำเนินการ เช่น การประสานข้อมูลกับธนาคารออมสิน เป็นต้น รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุของการเป็นหนี้สะสมมาจากอะไร พร้อมกับมีทีมงานไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

“การแก้ปัญหาหนี้ครูถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของ สพฐ.ที่ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทุกสำนักไปจัดทำแผนงานขับเคลื่อนนโยบายตามข้อสั่งการของ รมว.ศธ. ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแผนระยะสั้นหรือระยะยาว โดยจากนี้ไปส่วนกลางจะต้องทำงานบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงาน เพื่อลดภาระงานของสถานศึกษาให้ได้” รักษาการเลขาธิการ กพฐ. กล่าว