เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ลงข่าว บริษัทนำเข้าขนมญี่ปุ่นในสหรัฐ โดนมิจฉาชีพขโมยขนมช็อกโกแลตชื่อดังยี่ห้อ ‘คิทแคท’ หลังจากที่บริษัทสั่งซื้อขนมดังกล่าวรสชาติพิเศษ ที่หาได้ยากจากประเทศต้นทาง ซึ่งนำไปสู่การเปิดโปงขบวนการลักทรัพย์หรือสินค้าผ่านขั้นตอนการขนส่งได้อย่างแนบเนียน

แดนนี แทง เจ้าของบริษัทบอคค์ซูจากนิวยอร์ก ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายขนมจากญี่ปุ่น ได้สั่งซื้อช็อกโกแลตคิทแคทรสแปลก ๆ ที่หาไม่ได้ในสหรัฐ เช่น รสเมลอน, รสชาเขียว, รสโมจิ เพื่อนำมาขายต่อ เป็นจำนวน 2 ตู้คอนเทเนอร์

มูลค่าของสินค้าที่เขาสั่งซื้อทั้งหมดอยู่ที่ 110,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.9 ล้านบาท) โดยคาดว่าสินค้าลอตนี้จะทำรายได้ให้เขาเป็นจำนวนมากถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 ล้านบาทเศษ

ขนมจากญี่ปุ่นลอตนี้มาถึงสหรัฐโดยสวัสดิภาพ โดยขึ้นฝั่งที่รัฐแคลิฟอร์เนีย จากนั้นก็ขนถ่ายขึ้นรถบรรทุก ซึ่งจะต้องเดินทางเป็นระยะทางราว 48 กม. ข้ามเขตลอสแอนเจลิสเคาน์ตี ไปยังโกดังเก็บของชั่วคราวในเขตเซาท์ เอลมอนเต ซึ่งมีชื่อบริษัทเจแปน เครต แอคคิซิชัน เป็นเจ้าของ

ตามกำหนดการ ช็อกโกแลตลอตนี้ จะต้องออกเดินทางครั้งสุดท้าย ไปยังโกดังเก็บสินค้าของบริษัทบอคค์ซู ในเมืองคาร์สตัดท์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ก่อนที่จะนำออกจำหน่ายตามร้านค้า

ขนมคิทแคทรสชาติแปลก ๆ จากญี่ปุ่น เช่น รสชาเขียว เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสหรัฐ

ในขั้นตอนนี้เองที่บริษัทนายหน้าจัดหาทีมขนส่งสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ชื่อว่าบริษัทเฟรตเรต เซ็นทรัล จากเมืองซาราโซตา รัฐฟลอริดา ซึ่งตัวแทนจัดการของบริษัทในครั้งนี้คือ เชน แบล็ค 

แบล็ค และบริษัทของเขา เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดหาบริษัทหรือทีมขนส่งสินค้าทุกชนิด และครั้งนี้ทาง บอคค์ซู ได้ว่าจ้างบริษัทของเขาเป็นเงินจำนวน 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 471,822 บาท) เพื่อขนส่งสินค้า

แบล็ค จัดการโพสต์หาคนรับงานในเว็บบอร์ดทีมขนส่ง แล้วก็ได้คนรับงานซึ่งใช้ชื่อว่า ทริสตัน จากบริษัท เอชซีเอช ทรัคกิง แม้ว่าเขาจะใช้ที่อยู่อีเมลฟรีของจีเมลจากกูเกิล แทนที่จะเป็นอีเมลของบริษัท แต่ แบล็ค ก็ไม่ได้รู้สึกว่าผิดปกติ

ในวันที่ 9 ส.ค. 2566 ทริสตัน เขียนอีเมลแจ้งความคืบหน้าในการขนส่ง โดยระบุว่าจะไปรับสินค้าในวันรุ่งขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่มีใครไปส่งสินค้าตามนัดในอีกหลายวันถัดมา

แบล็ค เริ่มเป็นกังวลว่าขนมจะละลายและเสียหาย เขาได้สอบถามไปยังทีมขนส่งอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าขนมจะอยู่ในตู้แช่เย็นและกำลังเดินทางไปยังจุดหมาย 

เขาได้รับคำตอบว่า รถบรรทุกคันหนึ่งของทีมเกิดเสียระหว่างเดินทางผ่านเมืองวอชิงตัน รัฐเพนซิลเวเนีย แต่เขายืนยันว่าขนมทั้งหมดอยู่ในตู้แช่และไม่มีอะไรเสียหาย เพียงแต่ทีมขนส่งจะต้องกลับไปยังต้นทาง เพื่อถ่ายขนมขึ้นรถคันใหม่

แบล็ค เริ่มเอะใจ เขาโทรฯ ไปตรวจสอบที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทเอชซีเอช ทรัคกิง ในเจอร์ซี ซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่ปรากฏว่าที่บริษัทไม่มีพนักงานชื่อ ทริสตัน

จากนั้นไม่นาน ทริสตัน ก็ติดต่อมาที่ แบล็ค เพื่อสารภาพว่าเขาเป็นแก๊งมิจฉาชีพ และบริษัทเอชซีเอชฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ก็ได้ให้ที่อยู่ของโกดัง 2 แห่ง ในลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นจุดที่เขาเอาของไปเก็บไว้

ความแปลกอยู่ที่ว่า แบล็ค ยังไม่ได้จ่ายเงินให้ ทริสตัน เลย ซึ่งทำให้เขาไม่เข้าใจว่ามิจฉาชีพรายนี้มาหลอกลวงเขาไปเพื่ออะไร 

อย่างไรก็ตาม แบล็ค กล่าวว่า เขาโชคดีมาที่ตามจนเจอสินค้า และพบว่าขนมได้รับการจัดเก็บอยู่ในห้องเย็น ขณะที่ ทริสตัน เงียบหายไป และไม่ติดต่อกลับมาที่ แบล็ค อีกเลย

แต่ แบล็ค ก็ต้องเผชิญหน้ากับมิจฉาชีพรอบสอง เมื่อขนมคิทแคทลอตเจ้าปัญหา ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เก็บไปที่โกดัง 2 แห่ง คือ อินแลนด์ เอ็มไพร์ โคลด์ สตอเรจ กับ เอนีไทม์ ครอสส์ดอค ซึ่งฝ่ายหลังนี้ต้องการให้ขนย้ายสินค้าออกไปโดยเร็ว เพราะต้องการใช้พื้นที่

แบล็ค ทำแบบเดิม คือโพสต์หาทีมขนส่งรอบที่ 2 บนเว็บบอร์ด คราวนี้คนที่รับงานของเขาใช้ชื่อว่า แมนนี จากบริษัทเอ็มวีเค ทรานสปอร์ต 

แบล็ค กล่าวว่า แมนนี ไปรับของจากโกดังจริง ซึ่งทำให้เขาโล่งใจว่าอย่างน้อยก็มีสินค้าส่งถึงมือลูกค้าครึ่งหนึ่ง แต่หลังจากผ่านไป 2-3 วัน เขาก็ติดต่อ แมนนี ไม่ได้ อีกฝ่ายไม่ตอบอีเมลและไม่รับโทรศัพท์ เท่ากับว่าขนมคิทแคทส่วนนี้ หายไปอย่างไร้ร่องรอยระหว่างการขนส่ง

เท่านั้นยังไม่พอ แบล็ค กลับมาเจอปัญหาการนำของอีกครึ่งหนึ่งออกจากโกดังของ อินแลนด์ เอ็มไพร์ฯ แม้ว่าเขาจะพยายามชี้แจงว่าสินค้าลอตนี้เป็นสินค้าที่โดนขโมยมา แต่อีกฝ่ายก็ยืนยันว่าจะต้องติดต่อกับคนที่นำมาฝากไว้ที่ชื่อว่า แฮร์รี เซนตา เท่านั้น

ตอนแรก แบล็ค คิดว่าว่าเป็นชื่อปลอมของมิจฉาชีพ แต่ปรากฏว่า แฮร์รี เซนตา มีตัวตนอยู่จริง และทำงานอยู่ในบริษัทขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แต่เขาไม่เคยรู้เรื่องมหากาพย์คิทแคทญี่ปุ่นนี้เลย

ส่วนทาง อินแลนด์ฯ​ ก็ระบุว่า ถ้าหาก แบล็ค ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเขาเป็นเจ้าของสินค้าลอตนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจ่ายเงินค่าเช่าที่เก็บสินค้าทั้งหมด บริษัทก็จะไม่อนุญาตให้เขานำสินค้าออกไป

แบล็ค พยายามขอความช่วยเหลือจาก บอคค์ซู แต่บริษัทกลับยุติการว่าจ้างเขา พร้อมทั้งแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเรียกเงินชดเชยจากประกันภัยสินค้าที่บริษัททำไว้ แต่สุดท้ายก็ได้รับคำปฏิเสธจากบริษัทประกันภัย

บอคค์ซู ตัดสินใจทิ้งสินค้าลอตนี้ไปแล้ว และไม่สนใจจะนำสินค้าออกมาจากโกดัง โดย แดนนี แทง กล่าวว่า เขาไม่สะดวกใจที่จะนำสินค้าลอตนี้ออกมาขาย เพราะไม่แน่ใจว่า ขนมที่ตกค้างในโกดังจะมีการปนเปื้อนระหว่างการขนส่งและจัดเก็บหรือไม่ ซึ่งถ้าหากนำออกไปขายแล้วสินค้าเกิดมีปัญหา ก็อาจโดนฟ้องร้องได้

จนถึงตอนนี้ ขนมคิทแคทในโกดังอินแลนด์ฯ ก็ยังไม่มีใครแตะต้อง ขณะที่ทาง บอคค์ซู และ แบล็ค ต่างก็โยนความผิดกันไปมา เนื่องจากมีการสืบพบว่า บอคค์ซู ซื้อกิจการของ เจแปน เครตฯ ไปตั้งแต่ก่อนที่สินค้าเจ้าปัญหาจะมาถึงสหรัฐ จึงเท่ากับว่าบริษัทเองก็รู้เห็นการขนถ่ายสินค้าจาก เจแปน เครตฯ ไปให้มิจฉาชีพตั้งแต่แรก แต่กลับปล่อยผ่านโดยไม่ตรวจสอบ

คีธ ลูอิส รองประธานคณะปฏิบัติการคาร์โกเน็ต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลและผู้จัดหาเทคโนโลยีทั่วโลก กล่าวว่า ลักษณะของอาชญากรรมที่ยึดสินค้าเป็นเหมือนตัวประกันนี้ เพิ่มขึ้นถึง 700% ในปี 2566

มหากาพย์คิทแคทของบริษัทบอคค์ซู เป็นเพียงคดีตัวอย่างของอาชญากรรมฉ้อโกงที่มาจากการปลอมแปลงข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในรูปแบบของการดักสินค้าระหว่างกระบวนการขนส่ง

ลักษณะของอาชญากรรมประเภทนี้ จะมีทั้งการขโมยอัตลักษณ์หรือสวมรอยบริษัทผสมผสานกับการขู่กรรโชกทรัพย์ ซึ่งมีสินค้าเป็นตัวประกัน หากบริษัทเจ้าของสินค้าไม่ยินยอมตกลงตามเงื่อนไขกรรโชกทรัพย์ของแก๊งมิจฉาชีพ สินค้าดังกล่าวก็จะหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ข้อมูลจากเอฟบีไอระบุว่า อาชญากรรมประเภทนี้สร้างความเสียหายให้สหรัฐ โดยเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.08 ล้านล้านบาท) โดยมีสินค้าประเภทอาหาร เป็นหนึ่งในเป้าหมายอันดับต้น ๆ 

ที่มา : straitstimes.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES