สวัสดีวันหยุด! พบกับข่าวสารยานยนต์จากทุกมุมโลก กับ อ้วนซ่า แอบซิ่ง อีกเช่นเคย ในสัปดาห์นี้จะพาไปชมรถกระบะสายพันธ์ “ผ่าเหล่า” จากข้อมูลที่เราทราบนั้นก็คือ รถผลิตลอตแรก หรือ “Early Produciton” นี้จะผลิตขึ้นที่โรงงานของเทสลา ในรัฐเทกซัส โดยจะผลิตในจำนวนจำกัด ส่วนขุมกำลังนั้น แต่เดิมคาดว่าจะใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ชนิด 4680 แต่สุดท้ายแล้วเหมือนจะไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่นี้ในจำนวนมากได้ดีพอ จึงต้องหันกลับมาใช้แบตเตอรี่ขนาด 2170 ที่ใช้ร่วมกันกับเทสลา รุ่นอื่นๆ ซึ่งเหตุการณ์นี้เอง ก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเปิดตัวรถรุ่นนี้ในอดีตนั่นเอง

ตัวถังสเตนเลสไร้สนิม และกระจกรถสุดแกร่ง ดังที่ทราบกันดีว่าในงานเปิดตัวรถแนวคิดไซเบอร์ทรัค ในปี 2019 นั้น ได้มีการสาธิตถึงความแข็งแกร่งของ ตัวถังสเตนเลสด้วยการซัดด้วยค้อน ส่วนกระจกพิเศษที่เชื่อว่า สามารถกันแรงกระแทกได้สูง จากการทดสอบภายในของทีมงานนั้นกลับไม่รอด ในการสาธิตจริง โดยผู้ที่ทำกระจกแตกคือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของเทสลา ทำการขว้างลูกบอลเหล็กใส่ จนเกิดเหตุการณ์กระจกแตกที่น่าอับอายในการสาธิตนั้น ว่ากันว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นคือ ระหว่างการซัดด้วยค้อนลงไปที่ประตูรถนั้น แรงกระแทกอาจจะทำให้ขอบกระจกที่อยู่ในประตูเกิดแรงเค้นขึ้น และเมื่อปาลูกเหล็กใส่ มันเลยแตก ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า ถ้าปาลูกเหล็กใส่กระจกก่อน แล้วค่อยหวดค้อนไปที่ประตู เหตุการณ์อาจจะไม่เป็นเช่นนี้ ส่วนรถจริงที่จะส่งมอบให้กับลูกค้านั้น เชื่อว่าน่าจะยังคงใช้ตัวถังสเตนเลสไร้สนิม และกระจกพิเศษ เช่นเคย

เรื่องทางด้านเทคนิคอื่นๆ นั้น เชื่อว่าสิ้นเดือนนี้ คือ 30 พฤศจิกายน 2023 จะเปิดเผยจนสิ้นสงสัย แต่ข่าวที่เราได้เห็นมาก็คือ ทางบริษัทพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการ “ปั่นราคา” ค้ากำไรในตลาดรถมือสอง โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับรถในล้อตแรก ซึ่งจะมีจำนวนจำกัดนั้น ต้องทำสัญญา “ห้ามทำการขาย ภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันส่งมอบรถ” หรือ “No Resell Policy” แต่ถ้าคุณมีความจำเป็นที่จะต้องขายรถกระบะไซเบอร์ทรัค คุณจะต้องทำหนังสือ แจ้งถึงบริษัทเทสลาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบริษัทจะเป็นผู้ซื้อรถยนต์คันนั้นกลับ โดยจะทำการหักค่าเสื่อมเป็นจำนวน 0.25 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อระยะทางวิ่ง 1 ไมล์ หรือ 5 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร และยังจะมีการหักค่าเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนต่างๆ และมีค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสภาพรถมือสองตามมาตรฐานของศูนย์จำหน่ายรถยนต์ใช้แล้ว และในกรณีที่บริษัทปฏิเสธการรับซื้อคืน เจ้าของถึงจะสามารถขายต่อให้บุคคลที่สามได้

ทั้งนี้ หากเทสลา พบว่าลูกค้ารถกระบะไซเบอร์ทรัค ละเมิดกฎดังกล่าว บริษัทจะดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.8 ล้านบาท หรือเทียบเท่ามูลค่ากำไรที่ได้จากการขายรถ แล้วแต่ว่ามูลค่าใดสูงกว่า และขอปฏิเสธการจำหน่ายรถยนต์ของเทสลา รุ่นใดๆ ให้กับลูกค้าท่านนั้นในอนาคตต่อไปอีกด้วย เรียกได้ว่างานนี้เขาจริงจัง เพื่อเป็นการป้องกันการเก็งกำไร

ในปัจจุบันนี้มีผู้ลงทะเบียนจองรถกระบะไซเบอร์ทรัค ว่ากันว่ามีหลายแสนราย! และแม้จะมีมาตรการป้องกันการขายต่อในช่วงปีแรก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2025 ก็ยังเชื่อว่า เทสลา แม้จะเคลมว่าพวกเขาสามารถที่จะผลิตรถได้มากถึงปีละ 125,000 คัน พวกเขาเองก็ยังไม่สามารถจัดจำหนายรถให้กับผู้ที่วางเงินจองไว้ได้หมด และในเวลานั้นเจ้าของรถในลอตแรกก็จะสามารถทำกำไรจากรถของพวกเขาได้อยู่ดี….ไม่รู้ว่าบ้านเราจะได้เจอคันแรก เมื่อไหร่กันนะขอรับ!