เมื่อเวลาผ่านพ้นไปการคมนาคมทางบกเข้ามาแทนที่ คลองถูกทิ้งร้าง บ้างถูกถม บ้างตื้นเขินและเน่าเสีย จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคลองซอย คลองย่อยเกือบทั่วกรุงได้รับการปรับปรุงพร้อมพลิกฟื้นคืนชีพ หนึ่งในนั้นคือ “คลองผดุงกรุงเกษม”

คลองผดุงฯ ชื่อเรียกขานสั้น ๆ ของคลองที่มีความยาวถึง 5,500 เมตร ขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เมื่อ พ.ศ. 2394 เริ่มจากปากคลองริมแม่นํ้าเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร มีแนวขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ไปออกปากคลองอีกด้านบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา เพื่อรองรับการขยายของเมืองพร้อมกับทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันพระนครในยุคนั้นด้วย

ช่วงระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2566 คลองผดุงกรุงเกษมจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ด้วยการเป็นพื้นที่ในการจัดงานเทศกาล “สีสันแห่งสายนํ้า มหกรรมลอยกระทง ปี 2566” โดยเลือกเอาย่านหัวลำโพง ซึ่งเป็นจุดที่มีการเดินทางเชื่อมต่อสะดวกสบายเป็นพื้นที่หลัก

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า งานสีสันแห่งสายนํ้า มหกรรมลอยกระทง ปี 2566 ถือเป็นหนึ่งใน Big Events ของ ททท.ภายใต้ Thailand Winter Festival มุ่งนำเสนอความสุขและคุณค่าของประเพณีลอยกระทงตามวิถีไทย สะท้อนความงดงามของวัฒนธรรมไทยกับสายนํ้าสู่สากล ในแนวคิด “Moonlight Reflection Loi Krathong Along the Canal” สร้างสีสันบนผืนนํ้าด้วยแสงสี (Lighting) เติมเต็มคํ่าคืนวันเพ็ญ พร้อมนำส่งประสบการณ์ใหม่ Amazing Experience ของประเพณีลอยกระทงที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบสู่ความยั่งยืน (Sustainable Tourism) ด้วยการรณรงค์ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ 1 ครอบครัว 1 กระทง และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในพื้นที่ที่ ททท. จัดงาน และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ

มอบความพิเศษด้วยไฮไลต์การแสดงแสงเสียง “LightingIllumination Show” ผ่านสัญลักษณ์แลนด์มาร์กกระทงประดับไฟ 5 พื้นที่เอกลักษณ์ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของประเพณีไทยโดยในช่วงพิธีเฉลิมฉลองประเพณีลอยกระทงขบวนแห่ประเพณีลอยกระทง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายนนั้น จะมี นางสาวแอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Universe Thailand 2022 แต่งกายชุดนางนพมาศนำขบวน นอกจากนี้ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรม กิจกรรมสาธิตอาหารชาววังและกระทงเอกลักษณ์ 5 พื้นที่กิจกรรม รวมทั้งตลาดย้อนยุครัตนโกสินทร์จำหน่ายอาหารไทย

“ททท. ยังตระหนักถึงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่จัดงาน โดยมีการบริหารจัดการขยะจากกระทง และให้นักท่องเที่ยวร่วมสืบสานประเพณีไทยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรม DIY ประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงกะลามะพร้าว กระทงใบลาน กระทงกาบกล้วย”

สำหรับการจัดงานประเพณีลอยกระทง 5 พื้นที่อัตลักษณ์ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด แต่ละพื้นที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไป

“ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566” เนรมิตบรรยากาศเมืองเชียงใหม่ตามความเชื่อล้านนา ภายใต้แนวคิด “เชียงใหม่นครแห่งความสุข และความสง่างาม คํ่าคืนแห่งสายนที วิถีวัฒนธรรมล้านนา” วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 พบกับพิธีขอขมาแม่นํ้าปิง กิจกรรมประกวดโคมยี่เป็งล้านนา และพิธีเปิดงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ 2566 เวลา 18.00 น. ณ ข่วงประตูท่าแพ วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2566 พบกับ การประกวดเทพี-เทพบุตรยี่เป็งเชียงใหม่ พิธีปล่อยกระทงสายล้านนา กิจกรรมความสุขแห่งสายนํ้า ยี่เป็งเชียงใหม่ และการแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ เวลา 20.30 น. ณ ท่านํ้าศรีโขง ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป พบกับการประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา การประกวดหนูน้อยยี่เป็งเชียงใหม่ และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 พบกับการประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานฯ เวลา 19.00 น. ณ ท่าแพ สำนักงานเทศบาล

“ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย” ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่เมืองมรดกโลก แต่ยังเป็นประเพณีเก่าแก่ คำว่า “เผาเทียนเล่นไฟ” ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งว่า ’เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกันเข้า มาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ“

ไฮไลต์ 10 จุดที่ไม่ควรพลาดภายในงาน ได้แก่ การแสดงแสงเสียงสุดตระการตา ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, Check in Landmark โซนสีสันแห่งสายนํ้ามหกรรมลอยกระทง บริเวณหน้าวัดชนะสงคราม, การประกวดโคมชัก โคมแขวน พนมหมาก พนมดอกไม้ กระทงเล็ก บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, การประกวดกระทงใหญ่ บริเวณตระพังตาล, การแสดงพลุตะไล ไฟพะเนียง, การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ และละครหุ่น, การแสดงจำลองวิถีชีวิตสมัยกรุงสุโขทัย, เที่ยวชมตลาดบ้านบ้านสุโขทัย, เที่ยวชมตลาดแลกเบี้ยสุโขทัย-ตลาดรอบรั้วเมืองพระร่วง และการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์สุโขทัย

ตื่นตาตื่นใจกับไฮไลต์การแสดงแสง เสียง ณ วัดมหาธาตุ เมืองมรดกโลกสุโขทัย ย้อนอดีตสู่ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย ผ่านการถ่ายทอดจากนักแสดงนาฏศิลป์กว่า 400 ชีวิต ชมขบวนช้างยุทธหัตถี การละเล่น พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ไฟไทยแบบโบราณ สุดตระการตา วันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19.00 น. และเพิ่มรอบในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 20.30 น. การแสดงการจุดพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟ แบบสุโขทัย ทุกวัน เวลา 22.30 น.

ในปีนี้ จังหวัดสุโขทัยได้รับรางวัล Gold Prize Festival & Event City งานเทศกาลที่มีศักยภาพ (ธีมงานกลางคืน) ประจำปี 2023 จากสมาคมการจัดงานอีเวนต์และเทศกาลนานาชาติหรือ International Festival & Events Association (IFEA) ภูมิภาคเอเชีย (ASIA Chapter) ซึ่งเป็นการยืนยันความมีเสน่ห์และศักยภาพของเทศกาลลอยกระทงที่เป็นสีสันยามคํ่าคืนที่ได้รับการยอมรับจากสากล

“ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง จังหวัดตาก” เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก วันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2566 พบกับขบวนแห่เรือกระทงสาย ทั้ง 4 สาย โดยมีไฮไลต์อยู่ที่พิธีอัญเชิญพระประทีป
พระราชทานฯ และพิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทานฯ ประดิษฐานบนเวทีกลางนํ้าปิงการลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง กิจกรรมลานภูมิปัญญากระทงสาย จำหน่ายกระทงกะลาของนักเรียน และกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ สักการบูชาพระอุปคุตรอยพระพุทธบาท พระแม่คงคา นํ้ามนต์จันทร์เพ็ญวัดวาสะเดาะเคราะห์, กาดกระทงสาย, การประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง ดาวรุ่งลูกทุ่งกระทงสายชิงถ้วยพระ
ราชทานฯ และการแข่งขันมวยไทยและมวยคาดเชือก

“ประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง” วันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2566 ณ อุทยาน ร.2 จ.สมุทรสงคราม พบกับการประกวดกระทงชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, การประกวดรำวงตามบทร้อง (พื้นบ้าน) ชิงถ้วยพระราชทานฯ พิธีอาบนํ้าเพ็ญ

การแสดงจากยุวศิลปินของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น, นิทรรศการอาหารบ้านฉัน นิทรรศการกระทงกาบกล้วย กิจกรรมเวิร์กช็อปกระทงกาบกล้วย อาหารและขนมพื้นเมือง และวันที่ 18-27 วัดภุมรินทร์กุฎีทอง จ.สมุทรสงคราม พบกับริ้วขบวนแห่พระประทีปพระราชทาน การลอยกระทงกาบกล้วย 200,000 ใบ การประกวดนางนพมาศ การออกร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน และการแสดงเชิงวัฒนธรรม

“ประเพณีสมมานํ้า คืนเพ็ง เส็งประทีป ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566” ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 26–27 พฤศจิกายน 2566 พบกับการประกวดรำวงสมมานํ้าคืนเพ็งเส็งประทีป การแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) โดยศิลปินแห่งชาติ แม่ฉวี วรรณพันธุ์ รำวงสมมานํ้าคืนเพ็งเส็งประทีป จำนวน 5,000 คน พิธีสักการะและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดร้อยเอ็ด ขบวนแห่กระทงประทีป 12 เมืองร่วมสมัย และไฮไลต์ขบวนอัญเชิญไฟพระราชทานนำหน้าพระประทีปพระราชทานลงลอยในบึงพลาญชัย.

อธิชา ชื่นใจ