รายงานข่าวจากรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2 แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างนำเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการก่อสร้างต่อไป ซึ่งอาจเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

สำหรับผลการศึกษาจะก่อสร้างสะพานใหม่จำนวน 2 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ 1.ก่อสร้างสะพานรถไฟ ด้านท้ายน้ำของสะพานเดิม สำหรับรองรับรถไฟทางคู่ (รางขนาด 1 เมตร จำนวน 2 ทาง) และรถไฟความเร็วสูง (รางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง) ซึ่งทำให้มีสะพานรถไฟรองรับได้ จำนวน 4 ทาง สะพานมีความกว้าง 24.2 เมตร และ 2.ก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ ด้านเหนือน้ำของสะพานเดิม จำนวน 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจร ช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร และมีทางเดินเท้ากว้างข้างละ 1.5 เมตร รวมความกว้างสะพาน 13 เมต

โครงการดังกล่าวมีวงเงินลงทุนประมาณ 3,117 ล้านบาท กำหนดการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ (เฟส) ตามปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้า ดังนี้

เฟส 1 ก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่และปรับปรุงสะพานรถยนต์เดิม วงเงิน 2,083 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างกว่า 1,840 ล้านบาท ค่าควบคุมงานกว่า 142 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินกว่า 88 ล้านบาท และค่าจัดการสิ่งแวดล้อมกว่า 11 ล้านบาท โดยก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ รองรับรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง พร้อมปรับปรุงสะพานเดิม โดยรื้อย้ายรางรถไฟเดิมออก ให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2569 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2572 ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน

เฟส 2 ก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ วงเงิน 1,034 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างกว่า 957 ล้านบาท ค่าควบคุมงานกว่า 71 ล้านบาท และค่าจัดการสิ่งแวดล้อมกว่า 5 ล้านบาท โดยก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ ขนาด 2 ช่องจราจร รวมกับ 2 ช่องจราจรของสะพานเดิม เป็น 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) มีแผนก่อสร้างประมาณปี 2584 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2587 ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน หรือมีการก่อสร้างหลังจากที่เปิดให้บริการสะพานในเฟสแรกแล้วประมาณ 10 ปี

โครงการนี้ได้จัดทำการศึกษาวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อมและจัดการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและลดผลกระทบจากโครงการมากที่สุด นอกจากนี้จากการคาดการณ์ปริมาณจราจร เปรียบเทียบกรณีที่การขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็นไปตามสภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งในปัจจุบัน (ทางรถไฟขนาด 1 เมตร บนสะพานเดิม โดยใช้งานรวมกับการขนส่งทางรถยนต์) กับกรณีที่พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรางในพื้นที่ศึกษา (สะพานแห่งใหม่สำหรับรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่) พบว่าตามสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมีความต้องการขนส่งสินค้าผ่านด่านสะพานหนองคาย ในปี 2572 ประมาณ 2.60 ล้านตันต่อปี โดยปริมาณการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ ประมาณ 80% เป็นการขนส่งทางถนน อีกประมาณ 20% เป็นการขนส่งทางรถไฟ

สำหรับในกรณีที่มีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรางในพื้นที่ศึกษาของโครงการจะดึงดูดให้มีการขนส่งสินค้าผ่านด่านสะพานหนองคายเพิ่มสูงขึ้น จาก 2.60 ล้านตันต่อปี เป็น 4.92 ล้านตันต่อปี ในปี 2572 และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 13.2 ล้านตันต่อปี ในปี 2601 โดยมีสัดส่วนการขนส่งทางรถไฟเพิ่มสูงขึ้น ในระดับ 60-75% ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางด้วยประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรางที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ซึ่งต้องปิดไม่ให้รถยนต์ผ่านในระหว่างที่มีการเดินขบวนรถไฟนั้น ไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ ส่งผลให้เกิดความแออัดบริเวณหน้าด่านสะพาน รวมถึงความล่าช้าในการขนส่งสินค้าทางรถไฟด้วย