เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ตลิ่งชัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขดำ อท 155/2566 ระหว่าง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล โจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์, ผศ.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ กับพวกรวม 5 คนเป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 172

จากกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ร่วมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายและดำเนินการให้มีการเปลี่ยนรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ โดยมิชอบ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้รับความเสียหาย ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน ถูกเสนอให้ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ก่อให้เกิดความสับสน ความแตกแยกในหมู่พนักงานเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เพราะมีข่าวออกเผยแพร่ทันทีภายหลังการประชุม กสทช. เสร็จสิ้น รวมถึงหมดโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน

กระทำของจำเลยทั้ง 5 ทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบต่อการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. ซึ่งจะมีขึ้นในภายภาคหน้าต่อไปด้วย จำเลยที่ 5 เป็นรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และเป็นผู้รักษาการแทนโจทก์ แต่จำเลยที่ 5 โดยเจตนาทุจริตกลับจัดทำบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด (ลับ) ส่วนงานเลขานุการ กสทช. สายกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ แต่งตั้งตนเองเป็นพนักงานผู้รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และตนเองจะได้ดำรงตำแหน่งแทน จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1-4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย

เป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 172 อีกทั้งภายหลังจากที่จำเลยที่ 1-4 ได้ร่วมกันลงมติตามระเบียบวาระ 5.22 ในการประชุม กสทช. และจำเลยที่ 5 ได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์แล้วปรากฏว่าสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอและเผยแพร่ข่าวที่ กสทช. มีมติปลดโจทก์ และให้โจทก์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ผ่านทางสื่อหลายสำนัก หลายช่องทางด้วยกันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการนำเสนอข่าวดังกล่าว ชื่อเสียง รวมถึงเสียโอกาสในหน้าที่การงานตนเอง

นัดฟังคำสั่งวันนี้ ทนายโจทก์มาศาล ตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฟ้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 เห็นควรรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องสำเนาฟ้องให้จำเลยทั้ง 5 พร้อมแนบหนังสือแจ้งสิทธิจำเลยทั้ง 5 ตามกฎหมายในการต่อสู้คดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง นัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 7 ก.พ. 2567 เวลา 09.30 น. ให้โจทก์นำส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องพร้อมแนบสำเนาคำฟ้องและเอกสารแจ้งสิทธิจำเลยทั้ง 5 ตามกฎหมายในการต่อสู้คดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทั้ง 5 ทราบภายใน 5 วัน นับแต่วันนี้

เห็นควรไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้เฉพาะนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล โจทก์ พ.ต.อ.ประเวศ มูลประมุข (เลขานุการประจำประธาน กสทช.) เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในการประชุมครั้งที่ 13/2566 น.ส.อรดา เทพยายน (ผู้อำนวยการสำนัก สำนักประธานกรรมการและการประชุมสำนักงาน กสทช.) เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุม และนายสุทัศน์ ทองสถิต (ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง) เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในการเสนอวาระการประชุมครั้งที่ 13 ในประเด็นและพยานหลักฐานตามที่ศาลเห็นสมควรเท่านั้นโดยให้ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความตามกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง