นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 66 เป็นต้นไป รฟท. จะเปิดใช้อาคารสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีเดิม ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นขนาดใหญ่ รวมชั้นใต้ดิน ส่วนสถานีรถไฟหัวหินแห่งเดิมที่เป็นอาคารอนุรักษ์ ถูกขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร เปิดใช้มานาน 112 ปี รฟท. ยังคงบำรุงรักษา อนุรักษ์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาถ่ายรูป เช็กอินภายในสถานีรถไฟหัวหิน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอำเภอหัวหิน พร้อมกับยังเปิดกว้างให้หน่วยงานต่างๆ สามารถติดต่อเข้าใช้สถานีรถไฟหัวหิน เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ และร่วมอนุรักษ์สถานีไปพร้อมๆ กัน

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า สำหรับการให้บริการอาคารสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ประชาชนจะได้รับความสะดวกในการเดินทาง โดยตัวอาคารหลังใหม่ อยู่ห่างจากอาคารสถานีเก่าประมาณ 30-40 เมตรเท่านั้น โดยเป็นอาคารลักษณะ 3 ชั้นขนาดใหญ่ รวมทั้งชั้นใต้ดิน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งลิฟต์ บันไดเลื่อน บันไดทางขึ้นทางลงบันไดหนีไฟ ห้องสุขา ห้องพักรอพระภิกษุสงฆ์ ห้องให้นมบุตร ห้องรับฝากสิ่งของ ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเจ้าหน้าที่ รฟท. รวมทั้งอาคารสำหรับประชาชน นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้อาคารแห่งใหม่ ทั้งชานชาลาที่ 1 และ 2 จะมีบันไดเลื่อนลงไปชั้นใต้ดินเพื่อไปอาคารใหม่  

ที่สำคัญ รฟท. ยังคงคำนึงถึงความสวยงาม และการมีส่วนร่วมอนุรักษ์บรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยได้ออกแบบอาคารสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ด้านบนหลังคาเป็นอาคารโปร่งโล่ง มีการใช้โทนสีแดงสลับสีครีมแนววินเทจ พร้อมมีทางรถไฟรางคู่ที่ยกระดับ หลีกเลี่ยงทางตัดรถไฟในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนแก่ประชาชนโดยรอบ สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ห้องจำหน่ายตั๋ว สถานีรถไฟหัวหิน โทร. 0-3251-1073 หรือศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายเอกรัช กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้อาคารสถานีหัวหินแห่งใหม่ สืบเนื่องจากนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม มีนโยบายให้ รฟท. เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ทั่วประเทศให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ทั้งนี้ ส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว และปัจจุบัน งานก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ทั้งช่วงนครปฐม-หัวหิน ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มีความก้าวหน้าใกล้จะแล้วเสร็จทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้สอดรับต่อการเพิ่มประสิทธิการเดินรถไฟทางคู่สายใต้ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ.