นางวรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ว่า สถานการณ์ความยากจนในปี 65 ภาพรวมปรับตัวดีขึ้นหลังผ่านการระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุดมีจำนวนคนจนรวม 3.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 5.43% ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวนคนจน 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนจน 6.32%

ขณะที่เส้นความยากจนของคนไทย ก็ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,803 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 64 เป็น 2,997 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 65 โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 5 จังหวัดในปี 65 ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัตตานี ตาก นราธิวาส และ กาฬสินธุ์ โดยที่น่าห่วงคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด และติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกัน 19 ปี ตั้งแต่ปี 45 สะท้อนให้เห็นปัญหาความยากจนเรื้อรังที่เกิดขึ้น และต้องเร่งหาทางแก้ไขในเชิงนโยบาย

ส่วนสถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำ สศช.มีตัวเลขสถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย พบว่า ในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น โดยตัวชี้วัดสำคัญนั่นคือ ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือสัมประสิทธิ์จีนี ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ในปี 65 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.343 จากระดับ 0.350 ในปีก่อน โดยตัวชี้วัดหลายด้านค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านโอกาสทางการศึกษา หลักประกันสุขภาพ และการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ

ดร.นาเดีย เบลฮาจ ฮาสซีน เศรษฐกรอาวุโสด้านความยากจน ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานการลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำและการจ้างงานในประเทศไทย ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดเป็นอย่างมาก แต่ความคืบหน้าดังกล่าวได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 56 ในปี 64 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคด้านรายได้ อยู่ที่ 43.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ขณะที่การกระจุกตัวของรายได้ในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้น พบว่ามีสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษ โดยในปี 64 พบข้อมูลว่า กลุ่มคนแค่ 10% ของคนไทยที่ร่ำรวยที่สุด ถือครองรายได้ และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

ทั้งนี้ปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายเรื่องของประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ โดยปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในระดับอาชีพและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ขณะที่ปัญหาช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทในปัจจุบันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในอัตราสูง โดยข้อมูลในปี 63 ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของประชากรในกรุงเทพฯ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 6.5 เท่า ซึ่งมีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดในประเทศ

นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาของประเทศ โดยเด็กที่มาจากครัวเรือนที่มีความร่ำรวยมีโอกาสในการศึกษาที่ดีกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจน และมีโอกาสได้งานที่ดีกว่าในอนาคต ขณะที่ผลคะแนนของนักเรียนไทยในโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลปี 61 ยังแสดงให้เห็นผลลัพธ์การเรียนรู้ ของนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยกว่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน