จากกรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ดำเนินคดีกับขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ คดีพิเศษที่ 59/2566 หลังจากได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (เนื้อสุกรแช่แข็ง) ตั้งแต่ปี 2564-ปัจจุบัน กระทั่งขอศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าหรือชิปปิ้งเอกชน จำนวน 10 ราย (จับกุมครบแล้ว) ในความผิดฐาน นำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และได้จับกุม 2 ผู้ต้องหา (นายวิรัชและนายธนกฤต ภูริฉัตร) ในกลุ่มนายทุน ล่าสุดออกหมายเรียกนายทุนเพิ่มอีก 1 ราย (โดยเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด) และเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการสรุปสำนวนผู้ต้องหาลอตแรกกว่า 20 ราย โดยเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชนที่นำเข้าสินค้าประเภทซากสุกร ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมขยายผลเตรียมรับกรณีขบวนการองค์กรอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร (สุกร) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ เป็นคดีพิเศษอีกคดี หลังพบว่าเกี่ยวข้องกับการนำเข้าตู้หมูเถื่อนเกือบ 1 หมื่นตู้ ในช่วงปี 2564-ปัจจุบัน เงินหมุนเวียนในกิจการกว่า 7 พันล้านบาท มีทั้งข้าราชการประจำและนักการเมือง ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ห้องประชุมพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ภายใต้การกำกับดูแลสำนวนของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการขยายผลในคดีหมูเถื่อน จำนวน 161 ตู้ มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหากลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนได้ทั้งสิ้น 10 ราย และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเตรียมขอศาลออกหมายจับอีก 2 บริษัท (1 กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม) ได้แก่ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เนื่องจากพบว่าทั้งสองแห่งนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าตู้หมูเถื่อน รวม 41 ตู้ มีเงินหมุนเวียนหลักพันล้านบาท และกรรมการรายนี้ ยังเกี่ยวข้องกับข้าราชการฝ่ายการเมือง อักษรย่อ ป.

ต่อมาเวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด พร้อมด้วยทีมฝ่ายกฎหมาย เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม หัวหน้าพนักงานสอบสวน และคณะ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และให้ปากคำชี้แจงถึงการนำเข้าตู้หมูเถื่อน เนื่องจากตามรายงานระบุว่า นายบริบูรณ์ รับหน้าที่เป็นทั้งบริษัทชิปปิ้งเอกชนและนายทุน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เข้าให้ปากคำเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนเตรียมแจ้งข้อหา ในความผิดฐานนำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนยังอยู่ระหว่างการสอบปากคำนายบริบูรณ์ และตรวจสอบวัตถุพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง.